ทำเนียบฯ 1 ส.ค. – รัฐบาลพร้อมหนุนมิตซูบิชิหวังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 25,000 ล้านเยน ช่วง 2 ปี “กอบศักดิ์” เผยนักลงทุนยังเชื่อมั่นลงทุนไทย ยอมรับเฟดลดดอกเบี้ยเป็นการบ้านของ ธปท.ต้องดูแลเงินทุนไหลเข้ากระทบเงินบาท ย้ำ ครม.เศรษฐกิจช่วยสานนโยบายพรรคร่วมท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หารือกับนาย Osamu Masuko ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อรายงานแผนการขยายการลงทุน หลังผลิตรถยนต์ครบ 5 ล้านคันในปี 2561 เป็นการผลิตเพื่อส่งออกถึง 3.7 ล้านคัน และพร้อมขยายการลงทุน โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย วงเงินรวม 25,000 ล้านเยนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า PHEV,HEV,EV เมื่อเห็นว่ารถไฟฟ้ากำลังมาแรง มิตซูบิชิจึงต้องการขยายการลงทุนรถไฟฟ้า จากเดิมผลิตเฉพาะเครื่องยนต์ใช้น้ำมัน จึงเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมเอกชนรายอื่นเข้ามาผลิตแบตเตอรี่รองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และพร้อมยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตที่เข้มแข็ง และมิตซูบิชิยังขอให้ช่วยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ รัฐบาลเตรียมประสานบีโอไอ เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ เมื่อกระแสรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมีแนวโน้มการผลิตมากขึ้น
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า การประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรกวันที่ 5 สิงหาคม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจมาจาก 3 พรรคใหญ่ ทั้ง พปชร. ปชป. ภูมิใจไทย ต่างดูแลทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องใช้เวที ครม.หารือ หรือกลั่นกรองเรื่องเศรษฐกิจ การแสดงความเห็นให้ครอบคลุมมากขึ้น จากนั้นจึงนำวาระเสนอที่ประชุม ครม.ชุดใหม่ในวันอังคาร เพื่อผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ครม.เศรษฐกิจจึงเป็นกลไกสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจไทยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกมีปัญหา คงไม่น่าห่วงตามที่ฝ่ายค้านระบุวา ครม.เศรษฐกิจอาจทำงานร่วมกันไม่ได้
นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เป็นครั้งแรก ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของแนวโน้มตลาดโลก หลังจากเฟดได้ปรับเพิ่มดอกเบี้ยมาต่อเนื่องหลายครั้ง เพราะเป็นห่วงเงินเฟ้อสูงในสหรัฐ เมื่อพบว่าเงินเฟ้อแท้จริงไม่กดดันมากท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงปรับลดกรอบอัตราดอกเบี้ยลง สำหรับผลกระทบต่อไทยครั้งสำคัญเช่นกัน เมื่อตลาดพันธบัตรสหรัฐได้รับผลกระทบ นักลงทุนย่อมมองหาผลตอบแทนใหม่ในต่างประเทศมาทดแทนการลงทุนในสหรัฐ ไทยเป็นจุดหมายหนึ่งที่สำคัญอาจทำให้เงินทุนไหลเข้ากระทบต่อเงินบาทแข็งค่าอีก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดจากส่วนต่างดอกเบี้ยในตลาดโลกครั้งนี้ และอัตราดอกเบี้ยเมื่อลดลงย่อมส่งผลต่อการลงทุนขยายตัวขึ้น. – สำนักข่าวไทย