กรุงเทพฯ 8 ก.ค.-กรมสรรพสามิต เดินหน้าศึกษาลดภาษีแบตเตอรี่ รองรับรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิต ลงนาม MOU กับค่ายรถยนต์ ผ่านมาตรการ EV 3.0 โดยรัฐบาลชดเชยราคารถยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อ 1.5 แสนบาทต่อคัน และมาตรการ EV 3.5 รวมทั้งมอเตอร์ไซต์และรถยนต์ 23 ราย ด้วยการลดภาษีนำเข้าจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2
ภาคเอกชนต้องเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมีเงื่อนไขใช้วัสดุในประเทศเป็นหลัก เช่น หากนำเข้าในรถยนต์ในปี 66 จำนวน 1 แสนคัน ต้องผลิตในประเทศในปี 67 จำนวน 1 แสนคัน หากตั้งโรงงานผลิตไม่ทันภายในปี 68 ต้องผลิตรถยนต์ 1.5 เท่า มีเงินลงทุนทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ BYD นำร่องผลิตรถยนต์ในประเทศแล้ว เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโลก เพื่อผลิตขายทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ
จากนั้นในปี 2569 รัฐบาลกำหนดแผนส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ ตั้งแต่การตั้งโรงงานผลิตหน่วยเซลล์ (Cell to Module) การผลิตกลุ่มเซลล์ นำสร้างโมดูล จากนั้นผลิตหลายโมดูลเพื่อสร้างแพ็คเกจเป็นแท่งแบตขนาดใหญ่วางใต้ท้องรถยนต์ เพื่อส่งเสริมการผลิตอุปกรณ์หลักของรถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้ภาคเอกชนยื่นขอบีโอไอวงเงินลงทุน 25,000 ล้านบาท นับว่าไทยได้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งการดึงดูการลงทุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การดึงเงินลงทุนเข้าประเทศก่อให้เกิดการผลิต การจ้างงาน การเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าผลิตได้ 1.8 ล้านคันต่อปี
คาดว่าผลิตใช้ในประเทศสัดส่วนร้อยละ 50 ส่งออกอีกร้อยละ 50 เพราะค่ายรถยนต์หลายชาติ ติดต่อเข้ามาสร้างโรงงานในประเทศไทยจำนวนมาก จึงต้องคว้าโอกาสนี้ เพราะกำหนดให้ใช้วัสดุ ชิ้นส่วนในประเทศร้อยละ 40 จากส่วนประกอบทั้งหมดของรถยนต์
ดังนั้น กรมสรรพสามิต จึงต้องศึกษาแนวทางดึงดูดการลงทุนแบตเตอรี่ เบื้องต้นกำหนด หากผลิตแบตเตอรี่มาตรฐาน อึดทนทาน ใช้นาน ขนาดใหญ่ เก็บภาษีน้อย หากผลิตแบตเตอรี่ คุณภาพลดลงเก็บภาษีสูงขึ้น เพื่อใช้มาตรการภาษีเป็นแรงจูงใจ เตรียมเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาลดภาษีแบตเตอรี่ในเร็วๆนี้ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในขั้นต่อไป รวมทั้ง เสนอ ครม. จัดสรรงบประมาณชดเชยรถยนต์ไฟฟ้า จากรอบแรก 7,000 ล้านบาท จำนวน 40,000 คัน เมื่อขยายมาตรการ EV 3.5 ต้องของบเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท สำหรับยอดจองซื้อ 3.5 หมื่นคัน.-515.-สำนักข่าวไทย