ภูมิภาค 15 ก.ค. – อีสานแล้งจัด จ.เลย นครราชสีมา มหาสารคาม ฝนทิ้งช่วงไม่ตกมานาน 2 เดือนแล้ว นาข้าวเริ่มขาดน้ำ เหี่ยวเฉา มหาสารคามนาข้าวเสียหายกว่า 50,000 ไร่ เขื่อนกักเก็บน้ำพิมายเหลือน้ำอยู่ก้นอ่าง แล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี
สถานการณ์ภัยแล้ง จ.เลย ยังคงรุนแรงและขยายพื้นที่ออกไปอย่างต่อเนื่อง เพราะฝนไม่ตกมานานเกือบ 2 เดือนแล้ว ทำให้ต้นข้าวที่เกษตรกรปักดำไว้ก่อนหน้านี้เริ่มขาดน้ำ แห้งเหี่ยวตาย เกษตรกรต้องเร่งสูบน้ำใส่ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน เพิ่มต้นทุนการผลิตขึ้นอีก ขณะที่แหล่งน้ำสาธารณะตามลำห้วยต่างๆ ก็เริ่มขาดแคลน
ส่วนอ่างเก็บของกรมชลประทานทั้ง 14 แห่ง ในจังหวัดเลย รวมความจุอ่างทั้งหมด 115.82 ลูกบาศก์เมตร เหลือน้ำใช้การได้เพียง 42.7 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41.2 โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำห้วยอีเลิศ อ.วังสะพุง แหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา และการเกษตร ระดับน้ำที่ใช้การได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.7 ไม่สามารถปล่อยลงคลองส่งน้ำให้แก่เกษตรกรได้แล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ระดับน้ำลงขนาดนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านพาเดินกันลงไปจับสัตว์น้ำถึงกลางอ่างเก็บน้ำ
เขื่อนกักเก็บน้ำพิมายแล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี
ส่วนที่ จ.นครราชสีมา สถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งในหลายพื้นที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนกักเก็บน้ำพิมาย พบว่าอยู่ในสภาพน้ำแห้งขอด มีน้ำเหลือก้นอ่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เกิดสันดอนดิน โขดหินโผล่บริเวณกว้าง ท้ายเขื่อนมีหญ้าขึ้นปกคลุมรกทึบ ชาวบ้านสามารถเดินข้ามไปมาได้ แล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี
เจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ อ.พิมาย ต้องปิดประตูระบายน้ำทุกบาน เนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าบานประตู ไม่มีน้ำส่งให้กับเกษตรกรเขตชลประทานที่อยู่ระหว่างเพาะปลูกข้าวนาปีกว่า 20,000 ไร่ ในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ท่าหลวง ชีวาน ดงใหญ่ และ ต.กระชอน ต้องเดือดร้อนหนัก ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร รวมถึงหลายหมู่บ้านที่รับน้ำดิบจากเขื่อนพิมายต้องขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ชาวบ้านในพื้นที่ถือโอกาสที่น้ำในเขื่อนเหลือน้อย พากันหางมหอยบริเวณท้ายเขื่อนนำไปประกอบอาหาร และนำไปขายสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวช่วงวิกฤติแล้ง
ฝนไม่ตก 2 เดือนทำต้นข้าวเฉาตาย 5 หมื่นไร่
น.ส.วาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นั่งเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำรวจผืนนา ลงพื้นที่และพบชาวนาที่ทำเรื่องร้องขอให้กรมฝนหลวงเข้าไปทำฝนเทียม เนื่องจากฝนไม่ตกติดต่อกันมาเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน ทำให้ต้นข้าวที่หว่านเฉาตายไปแล้วจำนวนหนึ่ง คิดเป็นพื้นที่กว่า 50,000 ไร่
ขณะที่ชาวบ้านอำเภอวาปีปทุม ได้ทำพิธีการขอฝนในแบบโบราณ แห่นางแมวขอฝน โดยนำตุ๊กตาแมวมาแห่ มีชาวบ้านฟ้อนรำ และมีพราหมณ์มาสวดทำพิธีขอให้ฝนตกลงมาตามความเชื่อ. – สำนักข่าวไทย