กรุงเทพฯ 21 มิ.ย. – รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งปลัดฯ-กยท.ตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังมีผู้ร้องพบพิรุธฮั้วประมูลถนนยางพาราซอยซีเมนต์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงฯ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ร้องต่อนายกรัฐมนตรีว่ามีการฮั้วโครงการทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์จริงหรือไม่ รวมถึงเร่งชี้แจงขั้นตอนการรับรองบริษัทที่มีความสามารถในการผลิตน้ำยางผสมสารเพิ่มและสารผสมเพิ่มสำหรับทำถนนพาราซอยซีเมนต์
นายกฤษฎา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจ คือ กยท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรฯ มีภารกิจดูแลเกษตรกรชาวสวนยางในการปลูก การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การหาช่องทางให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตยางพารา ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ดังนั้น กยท.จึงไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติให้มีการจัดซื้อหรือจัดจ้างเอกชนในการปรับปรุงหรือก่อสร้างถนน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำยางผสมสารผสมเพิ่ม “ไม่ใช่ผู้รับจ้างทำถนน” เป็นเพียง “ผู้จำหน่ายวัสดุชนิดหนึ่งประกอบการทำถนน” เท่านั้น ผู้รับจ้างมีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อวัสดุที่ได้มาตรฐานจากบริษัทใดก็ได้ คณะกรรมการฯ เปิดโอกาสที่จะทดสอบและรับรองมาตรฐานน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มให้ผู้ประกอบการที่สนใจผลิตและดำเนินการตามขั้นตอนตลอดเวลา โดยมีผู้ประกอบการสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีผู้มายื่นคำขอรับรอง 10 ราย ช่วงแรกหลังจากประกาศมีผู้มายื่นขอรับรอง 6 ราย และนัดให้เข้าตรวจและเก็บตัวอย่าง 5 ราย ซึ่งจากผลการทดสอบปรากฏว่า มีผู้ผ่านการรับรอง 3 ราย ไม่ผ่านการรับรอง 2 ราย ซึ่งคณะกรรมการแจ้งผลให้ผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านการรับรองทราบและให้ปรับปรุงน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มเพื่อทดสอบใหม่ โดยผู้ประกอบการรายใดเห็นว่าการดำเนินการในขั้นตอนใดไม่ถูกต้องก็สามารถยื่นอุทธรณ์มาที่คณะกรรมการ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ถ้าเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถนำคำร้องไปฟ้องศาลปกครองได้ต่อไป ล่าสุดมีผู้ประกอบการยื่นขอรับรองเพิ่มอีก 4 ราย โดยมี 2 รายตรวจกระบวนการผลิตและเก็บตัวอย่างมาส่งทดสอบแล้วอยู่ระหว่างรอผลทดสอบ ส่วนอีก 2 รายนัดเข้าตรวจและเก็บตัวอย่างในวันที่ 20 และ 30 มิถุนายน 2562
กยท.พร้อมทั้งกระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันว่าการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ เป็นอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้และมีส่วนราชการหน่วยต่าง ๆ ร่วมดำเนินการในรูปคณะกรรมการ หากผู้ประกอบการรายใดหรือประชาชนเห็นว่าการดำเนินการในขั้นตอนใดมีการกระทำที่ทุจริตหรือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายสามารถแจ้งมาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง หรือจะใช้สิทธิ์ดำเนินการตามกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมอีกทางหนึ่งก็สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยางพาราเข้าร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล (สายด่วน 1111) โดยกล่าวหาว่าพบข้อพิรุธและสงสัยในข้อมูลที่ประกาศรายชื่อทางเว็บไซต์ของ กยท. ซึ่งปรากฏชื่อบริษัทเอกชน 3 รายประกาศอยู่ในเว็บไซต์ของ กยท. โดยแจ้งว่าเป็นบริษัทที่มีน้ำยางพาราผสมสารเพิ่มถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกประการ และหากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายใดประสงค์จะเข้าประกวดราคาทำถนนผสมยางพาราในหน่วยงานของรัฐนั้นจะต้องซื้อน้ำยางพาราผสมสารเพิ่มจาก 3 บริษัทนี้เท่านั้น ตามราคาที่กำหนดหรือตกลงกัน ซึ่งกลุ่มผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่าเป็นการซื้อน้ำยางพาราผสมสารเพิ่มในราคาสูงมากและผูกขาด.-สำนักข่าวไทย