เจนีวา 19 มิ.ย.- สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) เผยว่า สิ้นปีที่แล้วทั่วโลกมีคนพลัดถิ่นจากบ้านเกิดเมืองนอนมากกว่า 70 ล้านคน มากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศ และเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
รายงานแนวโน้มโลกประจำปีของยูเอ็นเอชซีอาร์ระบุว่า ตัวเลขนี้ยังไม่รวมผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยตกสำรวจอีกเป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 ที่มีคน 68.5 ล้านคนจำใจพลัดถิ่นหนีความรุนแรงหรือการข่มเหงรังแก ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นชาวเอธิโอเปียที่หนีการสู้รบระหว่างชาติพันธุ์ และชาวเวเนซุเอลาที่หนีวิกฤตเศรษฐกิจไร้ซึ่งอาหารและสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน รายงานแยกผู้พลัดถิ่นเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ 41.3 ล้านคน ผู้ลี้ภัย 25.9 ล้านคน และผู้ขอลี้ภัย 3.5 ล้านคน ประเทศที่มีผู้พลัดถิ่นในประเทศมากที่สุดคือซีเรียที่เกิดสงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี 2554 และโคลอมเบียที่ตกอยู่ในความรุนแรงหลายทศวรรษ ส่วนตัวเลขผู้ลี้ภัยรวมเอาชาวปาเลสไตน์ 5.5 ล้านคนที่กระจัดกระจายในหลายประเทศ
นายฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นเอชซีอาร์กล่าวว่า แนวโน้มผู้พลัดถิ่นเป็นไปในทางที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ทางออกที่ดีที่สุดของผู้ลี้ภัยคือการได้กลับบ้านเกิดทันทีที่มีความสงบ แต่ผู้ลี้ภัยราวหนึ่งในห้ายังอยู่ในสถานะนี้มานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว ขณะที่ผู้ลี้ภัยเดิมยังกลับบ้านไม่ได้ จำนวนผู้ลี้ภัยใหม่ก็เพิ่มขึ้นเพราะเกิดการสู้รบและความขัดแย้งใหม่ ๆ จนดูเหมือนว่าโลกจะหาสันติภาพไม่ได้ นายกรานดีไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่าวิกฤตคนเข้าเมืองกับผู้คนที่เสี่ยงตายล่องเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมุ่งหน้าไปหาชีวิตใหม่ในยุโรป จริงอยู่ที่คลื่นคนเข้าเมืองเป็นปัญหาใหญ่ แต่เป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ โดยเฉพาะการจัดการโดยประเทศร่ำรวย เขายกย่องเยอรมนีที่ยอมรับคนเข้าเมืองและพยายามทำให้เห็นว่าเรื่องนี้จัดการได้แม้ผู้คนจะเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีเสียคะแนนทางการเมืองอย่างหนักที่ยอมเปิดประเทศรับคนเข้าเมือง การกระทำนี้ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าคำว่ากล้าหาญ.- สำนักข่าวไทย