สธ. 10 มิ.ย.- รองเลขาอย. ระบุ รอรัฐบาลชุดใหม่ตัดสินใจปลดล็อกสารซีบีดีในกัญชง ส่วนกัญชาของกลางที่มีสารปนเปื้อนสามารถสกัดออกได้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ช่วงรอยต่อ ย้ำใฃ้เป็นตัวเลือกสุดท้ายในการรักษา
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่มีคณะทำงานภายใต้สภากาชาดไทย ได้มีการจัดทำโปรมแกรมสำเร็จรูปเพื่อรับแจ้งความประสงค์ครอบครองกัญชาต่อไปได้อีกในช่วง 3 เดือน ซึ่งสิ้นสุดพร้อมกับการมาแจ้งครอบครองกับสำนักงาน อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น มีบางส่วนที่ส่งเอกสารครบ 3 อย่าง คือ ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หลักฐานการครอบครองผลิตภัณฑ์กัญชา และใบรับรองการเจ็บป่วย และบางส่วนที่ส่งเอกสารไม่ครบ
นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า เนื่องจากการการแจ้งครอบครองผ่านสภากาชาด ยังไม่มีตราประทับรับรองจากทาง อย. ดังนั้น ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงประมาณ 2 สัปดาห์ ทางอย.ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่แจ้งครอบครองผ่านสภากาชาดฯ ที่มีการส่งเอกสารครบ 3 อย่าง นำใบรับรองจากสภากาชาดมายื่นต่อ อย.เพื่อลงตราประทับรับรองให้อย่างเป็นทางการเพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ต่อไป และหากไม่สะดวกเดินทางมาที่ อย.ได้ก็สามารถส่งเอกสารดังกล่าวมาที่อีเมล cannabisreport@fda.moph.go.th พร้อมระบุที่อยู่มาด้วย เพราะ อย.จะต้องพิมพ์ออกมาลงตราประทับและส่งกลับไปให้ตามที่อยู่ที่ให้มา ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน
ส่วนแผนการกระจายน้ำมันกัญชาที่อย.เคยระบุว่าได้รับการบริจาคมา 500 ขวด นพ.สุรโชค กล่าวว่า ตอนนี้อย.เพียงแต่ได้รับการประสานต่อกันมาว่าจะมีการบริจาค แต่ยังไม่ได้รับผลิตภัณฑ์มาแต่อย่างใด ส่วนของกลางจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีอยู่ สามารถใช้ได้นั้นคิดว่าน่าจะเพียงพอในระยะรอยต่อจากนี้ เนื่องจากมีกัญชาที่ปลอดสารเคมีและโลหะหนัก 7 กิโลกรัม ก็ให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และส่วนอีก กว่า 2 พันกิโลกรัมที่ไม่มีสารเคมีแต่มีโลหะหนักอย่างแคดเมียมนั้น ก็ พบว่ามีวิธีการที่จะสกัดออกได้ จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ อย่างไรก็ตามต้องดูความต้องการใช้ในประเทศ มีโรคอะไรบ้างที่ให้ใช้ มีความจำเป็นต้องใช้หรือไม่ และที่สำคัญมียาตัวอื่นใช้อยู่หรือไม่
เมื่อถามต่อว่า มีข้อเสนอให้ปลดล็อกสกัดสารซีบีดีจากกัญชง รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า เรื่องนี้คณะกรรมการยาเสพติดฯ ก็เคยคุยกัน และรมว. สาธารณสุขก็ให้ศึกษา ทั้งนี้ ถ้าจะทำต้องมีการออกเป็นประกาศกระทรวงธารณสุข ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) คิดว่าคงต้องรอนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยปลูกกัญชงเพื่อใช้เส้นใย จึงมีการปลูกเพียง 90 วันเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาเท่านี้ไม่สามารถนำมาสกัดสารซีบีดีได้ ถ้าจะนำมาสกัดซีบีดีต้องใช้เวลา 120-180 วัน อีกทั้งยังเป็นสายพันธุ์กัญชงที่ไม่ได้ให้สารซีบีดีมากนัก อย่างของประเทศจีนที่มีการปลูกกัญชงเพื่อสกัดซีบีดีก็พบว่าเขาก็มีเป้าหมายเฉพาะเลยว่านำมาสกัดซีบีดี ดังนั้นจึงมีการกำหนดทั้งสายพันธุ์และระยะเวลาปลูกตั้งแต่ต้น. .-สำนักข่าวไทย