กรุงเทพฯ8มิ.ย.-กรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิจัย พัฒนา และผลิตสายพันธุ์กัญชาและกัญชง เน้นสายพันธุ์ไทยให้มีศักยภาพตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วย นายพาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายสุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องขออนุญาตย้ำเตือนอีกครั้งว่าการใช้สกัดกัญชาทางการแพทย์ไม่ใช่เป็นทางเลือกอันดับแรกในการรักษาโรค แต่จะใช้เมื่อรักษาด้วยยาตามมาตรฐานการรักษาแล้วไม่ได้ผล โดยกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถจะใช้สารสกัดกัญชาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ได้ประโยชน์ มี 4 โรค คือ ลมชักในเด็ก ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ปวดทนไม่ได้ และผลกระทบจากคีโม แต่ทั้งหมดไม่ใช่ทางเลือกแรก กลุ่มที่ 2.กลุ่มโรคที่น่าจะได้ประโยชน์ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน และ กลุ่มที่ 3. กลุ่มโรคที่ยังต้องศึกษาค้นคว้าวิจัย
แต่ที่ผ่านมายังพบว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด คิดว่ากัญชารักษาได้ทุกโรค รวมถึงนำไปใช้ผิดประเภท เช่น นอนไม่หลับ ปวดนิดหน่อย ก็ใช้ ซึ่งจริงๆ แล้วยานอนหลับ ยาแก้ปวดที่ราคาถูกกว่าก็มี จึงขอเตือนว่า อย่าใช้มั่ว ถ้าจะไม่มีข้อบ่งชี้จริงๆ และถ้ามีข้อบ่งชี้ก็ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไร เพื่อใช้สารสกัดที่ได้มาตรฐาน
ทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้คาดการณ์ว่าไทยจะมีความต้องการสารสกัดกัญชาทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เป็นห่วงมากในขณะนี้ คือกลัวว่าจะมีสารสกัดกัญชาที่ได้มาตรฐานไม่เพียงพอกับความต้องการ ที่คนส่วนใหญ่ซื้อหากันมาใช้ คือ น้ำมันกัญชาใต้ดิน ทางกรมฯมั่นใจว่า เกือบทั้งหมดไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้ช่วงที่ผ่านมาพบผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเข้าโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่องค์การเภสัชกรรมเริ่มนำร่องปลูกไปแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการพัฒนา และผลิตกัญชาแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก โดยมีองค์การเภสัชกรรมรับซื้อสารตั้งต้น เมื่อได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชา กรมการแพทย์จะได้ใช้อย่างสบายใจ ขณะนี้ทั้ง 2 สถาบันยังไม่สามารถเริ่มปลูกได้ เพราะยังติดขั้นตอนขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง โดยกรมการแพทย์ จะเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการขออนุญาตแบบครบวงจร ทั้งการปลูก ผลิต และใช้ ต่อทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะกรรมการยาเสพติด คาดว่าจะยื่นขอได้ภายใน เดือนนี้ เมื่อจะมีการประชุมพิจารณาในเดือนกรกฎาคม หากอนุมัติ คิดว่าปลายเดือนกรกฎาคม ทั้ง 2 สถาบันจะเริ่มปลูกได้ โดยการปลูกจะเน้นสายพันธุ์ไทย เพราะมีสารสำคัญครบตามที่แพทย์ต้องการ
ด้าน นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ร่วมมือในครั้งนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.)จะร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์รับซื้อช่อดอกกัญชาแห้งทางการแพทย์ เพื่อรับซื้อวัตถุดิบจากทาง ม.แม่โจ้ และมทร.ล้านนา ซึ่งคุณสมบัติผู้ขายจะถูกต้องตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ผ่านมาตรฐาน อย. มีใบอนุญาตถูกต้อง สายพันธุ์ที่ปลูกต้องเป็นไปตามสูตรตำรับที่ต้องการ ซึ่งจะมีการผลิตสารสกัดกัญชา 3 สูตร คือ สูตรทีเอซีสูง สูตรซีบีดีสูง และสูตรอัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง มาตรฐานการปลูกต้องไม่น้อยกว่ามาตรฐานการทางเกษตรที่ดี (GAP) มีการตรวจประเมินระหว่างปลูก เพื่อให้มั่นใจว่าช่อดอกที่เอามาเป็นไปตามมาตรฐานจริงๆ มีการควบคุมคุณภาพ ต้องไม่มีสารตกค้าง มีสารสำคัญตามต้องการเพื่อทำยา โดยราคารับซื้อเป็นตามกลไกตลาด อย่างต่างประเทศจะพบว่า ราคากัญชาแห้งที่ซีลมาอย่างดีเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7 หมื่น – 1 แสนบาท ทั้งนี้ การทำสัญญาซื้อขายอาจทำเป็นล็อตๆ ซึ่งล็อตหนึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือนในการปลูก หรืออาจทำเป็นรายปีก็ได้ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ยังนำไปใช้กับผู้ขายรายอื่นได้ด้วยที่จะมีในอนาคต เช่น วิสหากิจชุมชนต่างๆ เป็นต้น ซึ่ง วันที่ 13 มิถุนายนนี้ จะลงนามร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร ในการปลูกกัญชาอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม ที่นำร่องปลูกนั้นมีเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางเมตร ปลูกได้ประมาณ 140 ต้น และจะสามารถให้ผลผลิตได้ออกมาใช้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ที่ 2,500 ขวด ในปีหน้าเตรียมที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกในร่วมเพิ่มเป็น 1,000 ตารางเมตร ปลูกต้นกัญชาได้มากกว่าเดิมอย่างน้อย 8 เท่า
ขณะที่ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า เบื้องต้นจากการคำนวณพื้นที่ปลูกในโรงเรือน อาจจะต้องปลูกได้สูงสุดถึง 3,000 ต้น ส่วนจะแบ่งให้แต่ละแห่งปลูกเท่าไรนั้น จะมาตกลงกันอีกครั้ง และในการยื่นขอ อย.ก็ต้องดูว่า จะยอมให้ปลูกได้เท่าไร หากปลูกได้ 3,000 ต้น จะสามารถนำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นได้จำนวน 300 ลิตร จากนั้นจึงไปทำให้เจือจางเป็นผลิตภัณฑ์ในอัตราส่วน 1:3 จะได้น้ำมันกัญชาประมาณ 900 ลิตร หรือ 9 แสนมิลลิลิตร ถ้าแบ่งขวดละ 10 ซีซี ก็จะได้ถึง 9 หมื่นขวด ซึ่งก็จะทำทั้ง 3 ตำรับ คือ สูตรซีบีดีสูง ทีเอชซีสูง และสูตรหนึ่งต่อหนึ่ง โดยทุกขวดจะต้องได้สารสำคัญเท่ากัน คือ 1 มิลลิลิตร จะต้องมีสารสำคัญ 20 มิลลิกรัม ส่วนจะมีซีบีดี ทีเอชซีเท่าไรก็แล้วแต่สูตร
โดยเมื่อคนไข้นำน้ำมันกัญชามาใช้ ใน 1 หยดจะต้องมีสารสำคัญ 1 มิลลิกรัม ทำให้คนไข้ไม่เกิดปัญหาเมื่อใช้มากเกินไป เชื่อว่า ทั้งสองมหาวิทยาลัยจะพัฒนาสายพันธุ์ไทยให้มีซีบีดีสูงได้ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 รอบการปลูก ซึ่งแต่ละรอบใช้เวลา 3-4 เดือน
สำหรับพื้นที่เพาะปลูกของ 2 สถาบัน นายพาวิน กล่าวว่า เบื้องต้น ม.แม่โจ้จะเริ่มปลูกในโรงเรือน หรือกรีนเฮาส์ เนื้อที่ 3,000 ตารางเมตร สามารถปลูกได้ 2,600 ต้น ในอนาคตหากสำเร็จก็จะขยายออกไปปลูกกลางแจ้ง โดยม.แม่โจ้มีฟาร์มกลางป่า ซึ่งได้รับอนุญาตรวม 907 ไร่ สามารถปลูกได้มากถึง 13,000 ต้น และยังมีพื้นที่ที่สามารถเพาะกล้ากัญชาได้อีกประมาณ 100,000 ต้น ตอนนี้โรงเรือน พื้นที่ และระบบความปลอดภัยต่างๆพร้อมหมดแล้ว ขาดอย่างเดียวคือรั้ว คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 เดือน และ ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ อย.จะเดินทางมาตรวจสอบพื้นที่ว่า ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง และเมื่อได้รับใบอนุญาตก็สามารถลงมือปลูกต้นแรกได้ทันที
ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เตรียมพื้นที่ไว้ 2 แห่ง คือที่เชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร ที่ จ.ลำปาง จำนวน 2,200 ตารางเมตร สำหรับปลูกเพื่อเก็บดอกกัญชา แห่งละ 1,800 ต้น และสำหรับวิจัยสายพันธุ์ อีกแห่งละ 200 ต้น ในเบื้องต้นจะปลูกสายพันธุ์ไทย ภูพานด้ายแดง.-สำนักข่าวไทย