ชุมพร 21 ส.ค.- “พีระศักดิ์” ระบุให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ สร้างกลไกเพื่อไม่ให้ล้มรัฐธรรมนูญ กรณีหากเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ ถือเป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีกลไกแก้วิกฤติ
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองระบุการที่ สนช.แจงเจตนารมณ์คำถามพ่วงประชามติให้ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีพรรคการเมืองได้ ต้องการเอาใจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่า ได้ชี้แจงไปแล้ว การเสนอชื่อนายกฯรอบแรกเป็นกระบวนการพรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ แต่ส.ว.ที่จะทำหน้าที่ 5 ปีแรก มีสิทธิ์ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับฉันทามติจากประชาชนแล้ว แต่หากกระบวนการแรกไม่สำเร็จ ก็จะเข้าไปสู่กระบวนการที่สอง ซึ่งผ่านการหารือร่วมกันแล้ว ยืนยันว่า แนวคิดนี้ ยึดตามเจตนารมณ์หลัก ไม่ได้เกินเลยจากผลประชามติ ขอยืนยันว่าไม่ได้เอาใจ คสช. เพราะกว่าจะถึงกระบวนการนั้น คสช. เพียงรักษาความสงบเรียบร้อยและประคองสถานการณ์ เพื่อเข้าไปสู่โรคแมประยะที่สาม คือ การเลือกตั้งจัดตั้ง มีรัฐบาลใหม่ขึ้นเท่านั้น
รองประธาน สนช. กล่าวว่า ไม่อยากให้คิดไกลว่าการตีความดังกล่าวจะเป็นการสืบทอดอำนาจให้ คสช. แต่ทางออกนี้เป็นบทพิเศษของรัฐธรรมนูญ คือ การสร้างกลไก เพื่อไม่ให้เกิดการล้มรัฐธรรมนูญ หากเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ให้ใช้กลไกนี้ ซึ่งไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญใดมาก่อน ดังนั้น นี่คือจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีกลไกแก้วิกฤติให้ พร้อมยืนยันไม่ได้สร้างระบบขึ้นมาเพื่อคนใดคนหนึ่ง
ส่วนมีหลายฝ่ายกังวล ถึงข้อเสนอของ สนช.อาจทำให้เลื่อนระยะเวลาการเลือกตั้งออกไปจากโรดแมปเดิมนั้น นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินการมีกรอบเวลาอยู่แล้ว ที่กรธ.จะต้องเขียนให้เสร็จภายใน 30 วันหลังจากที่ประกาศผลอย่างเป็นทางการ และศาลรัฐธรรมนูญมีเวลา 30วัน ในการพิจารณา หากพบว่า บทเฉพาะกาลขัดกับเจตนารมณ์คำถามพ่วง ก็ส่งกลับมาให้ กรธ.ปรับแก้ภายใน 15 วัน และสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัย.-สำนักข่าวไทย