16 พ.ค.-เกณฑ์คุมสินเชื่อบ้านเริ่มส่งผล ทั้งแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์โอดครวญ ยอดขอกู้เมษายนลดลงชัดเจน
หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า LTV ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เริ่มเห็นผลกระทบต่อการยื่นขอกู้เงินซื้อบ้านของประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารของรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ต่างออกมาระบุว่า ยอดขอเงินกู้ซื้อบ้านของประชาชนลดลง
ไปทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าวกันอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร กรณีการไปทำเรื่องขอกู้เงินซื้อบ้านจากสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์การวางเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทไว้ว่า หากเป็นสัญญาซื้อบ้านหลังแรก 0-10 % ไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากเป็นสัญญากู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 (กรณีผ่อนชำระสัญญาแรกยังไม่หมด) ต้องวางเงินดาวน์ 10 % หากผ่อนชำระสัญญาแรกมาแล้ว 3 ปีขึ้นไป และ 20 % หากผ่อนชำระสัญญาแรกไม่ถึง 3 ปี และกรณีสัญญาเงินกู้ซื้อบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป กรณีสัญญาผ่อนชำระอื่น ๆ ยังไม่หมด จะต้องวางเงินดาวน์ 30% ส่วนผู้ที่ซื้อบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นสัญญาเงินกู้บ้านหลังแรกหรือหลังที่ 2 ต้องวางเงินดาวน์ 20 % และหากเป็นสัญญาที่ 3 ขึ้นไปต้องวางเงินดาวน์ 30 %
ไปดูผลกระทบจากธนาคารของรัฐซึ่งปล่อยกู้บ้านรายใหญ่ อย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์หรือ ธอส. นางฉัตร์รวี จิรกุลเมธาพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธอส. บอกว่า เดือนเมษายนที่ผ่านมา ธอส.ปล่อยเงินกู้บ้านลดลงเหลือ 9,000 ล้านบาท จากเดือนมีนาคมที่สามารถปล่อยกู้ได้ 19,000ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ส่งผลให้ผู้ขอสินเชื่อชะลอการยื่นกู้ เนื่องจากไม่มีเงินสำหรับวางดาวน์เพียงพอในการนำหลักฐานมาแสดงกับ ธอส. ทางแก้ไข ธอส.กำลังหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อไปเจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทยให้ผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เนื่องจากธนาคารของรัฐมีภารกิจเฉพาะด้านไม่เหมือนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก็ต้องรอดูว่า การขอผ่อนปรนจะได้ผลหรือไม่ หากไม่ได้ผล ธอส.บอกว่า จะกระทบต่อยอดการปล่อยสินเชื่อของธอส.ปีนี้อย่างน้อย 60,000 ล้านบาท จากเป้าสินเชื่อซื้อบ้านที่ตั้งไว้ 230,000 ล้านบาทแน่
มาทางด้านธนาคารพาณิชย์บ้าง นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บอกว่า มาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน มีผลกระทบทำให้ยอดการขอสินเชื่อบ้านของธนาคารเดือนเมษายนลดลงไป 50 % ลูกค้าชะลอการตัดสินใจยื่นกู้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อบ้านปีนี้ใหม่ จากปัจจุบันตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 24,000 ล้านบาท และธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 8,000 ล้านบาท
ส่วนนายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรบอกว่า มาตรการ LTV จะส่งผลต่อโครงสร้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เกิดการชะลอตัวระยะยาว เนื่องจากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนหายไปจากระบบ ขณะที่ผู้ประกอบการน่าจะระมัด ระวังการเปิดตัวโครงการใหม่ ด้านผู้บริโภคหรือผู้ต้องการซื้อบ้านนั้น ต้องมีการเตรียมตัวที่จะต้องวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นและอาจกู้ไม่ได้เต็ม 100%
ตัวเลขที่สะท้อนผลกระทบเกณฑ์คุมสินเชื่อบ้านชัดเจนอีกตัวเลขหนึ่งคือ การเร่งโอนและทำธุกรรมกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินของกรมที่ดินช่วงก่อนหลักเกณฑ์บังคับใช้ เพราะกรมที่ดินรายงานว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีประชาชนติดต่อใช้บริการต่าง ๆ ณ สํานักงานที่ดินทั่วประเทศ กว่า 6.67 ล้านรายเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกัน ปรากฏว่า ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนราย หรือร้อยละ 6.47 ส่วนการจัดเก็บรายได้ ค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์จัดเก็บได้ 57,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.52 แสดงถึงการเร่งทำสัญญาเงินกู้ สัญญาการซื้อขายบ้าน โอนบ้านก่อนที่หลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยจะบังคับใช้.-สำนักข่าวไทย