กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – “สมคิด” ฟันธงเศรษฐกิจไทยชะลอตัวแน่ จากผลกระทบสงครามการค้าจีน-สหรัฐ บวกการเมืองไทยไม่นิ่ง แต่เศรษฐกิจไทยพื้นฐานดียังช่วยรับผลกระทบได้ระยะหนึ่ง วอนการเมืองชัดเจนเร็ว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดงาน Exponential Manufacturing Thailand 2019 ว่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐรอบใหม่ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงแน่นอน บวกกับสหรัฐมองว่า ไทย manipulate หรือแทรกแซงค่าเงินบาท สภาวะอย่างนี้ก็จะกระทบผู้ส่งออกหนักยิ่งขึ้น แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยดียังพอรองรับกับภาวะที่เกิดขึ้นได้สักระยะหนึ่ง และหากการเมืองไทยดีขึ้นทุกอย่างจะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย จึงอยากให้การเมืองเร่งมือให้มีความชัดเจนเร็วที่สุด ซึ่งในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้กระทรวงพาณิชย์จะประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกก็จะได้ใช้โอกาสนี้ประชุมกับทูตพาณิชย์ ขณะนี้ได้สั่งการให้เตรียมลู่ทางที่ชัดเจนว่าจะแก้เกมได้อย่างไร เพราะเชิงบวกต่อการส่งออกไทยก็มีเช่นกัน
“ที่ผ่านมาคิดโครงการช่วยลดการชะลอตัวเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอลงเร็ว แต่กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโซเชียลจึงไม่ได้ดำเนินการ ช่วงนี้เวียดนามได้ประโยชน์สูงสุด เพราะการเมืองนิ่งไม่ใช่ไทยที่การเมืองไทยยังไม่ลงตัว การลงทุนในไทยจึงชะลอตัว เพราะนักลงทุนรอความชัดเจน แต่อย่ากลัว เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะสั้น” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า เดือนมิถุนายนรัฐบาลจีนจะนำคณะนักลงทุนจีนมาดูลู่ทางการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพิ่มเติม เพื่อสานต่อโครงการเส้นทางสายไหม ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามที่จะสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย จีน กับญี่ปุ่น
สำหรับสงครามการค้าส่งผลกระทบหนักกับประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพิงการส่งออกถึงร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยอาจหนักพอ ๆ กับประเทศมาเลเซียและเกาหลีใต้ เพราะสินค้าหลักส่งออกของไทยล้วนได้รับผลกระทบ ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มไอที สินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นผลจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยแคบ
นายสมคิด กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่แท้จริง คือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่ขณะนี้ภาพรวมผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำและผลิตภาพต่ำ ค่าจ้างแรงงานจึงไม่ได้รับการปรับขึ้น การผลิตส่วนใหญ่เน้นส่งออก เพราะในประเทศอำนาจซื้อไม่เพียงพอ ที่ส่งออกสินค้าได้อาศัยปัจจัยเงินบาทอ่อน ผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ไม่แข็งแรง โดยมีรายใหญ่ประมาณ 20 บริษัทที่แข่งขันทั่วโลกได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคของเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจไทยจึงโตได้ดีสุดเพียงร้อยละ 4.8 ไม่ถึงร้อยละ 5 เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยจึงชะลอตัวลง เพราะไทยพึ่งพิงการส่งออก ขณะที่คนยากจนยังมีอยู่ เพราะถูกตัดโอกาส อย่างไรก็ตาม หากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะแก้ไขปัญหาได้
ด้านภาคการผลิตประเทศไทยมีการคิดพัฒนา 10 อุตสาหกรรเป้าหมาย แต่ที่สำคัญ คือ ภาคการเกษตร ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยมีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นนำ IoT และ BigData เข้ามาจะช่วยพลิกโฉมภาคการผลิตไทยให้เปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ .-สำนักข่าวไทย