ตลท. 30 เม.ย. – ตลท.มั่นใจ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ใหม่ไม่กระทบการดำเนินงาน ระบุมีสภาพคล่องแข็งแกร่งในการนำส่งเงิน 5,700 ล้านบาท เข้ากองทุน CMDF
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 6 ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาไม่กระทบการดำเนินงานของ ตลท. แต่เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพและพัฒนาการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ตลท.มีการปรับตัวมาโดยตลอด เพราะ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่จะเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขัน ดังนั้น ตลท.ต้องสร้างจุดแข็งและยกระดับตลาดทุนไทยให้ทัดเทียมกับตลาดทุนประเทศอื่น ๆ ซึ่งหากไม่มีการปรับตัว ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้
ส่วนการที่ ตลท.ต้องโอนเงิน 5,700 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ( CMDF ) และนำส่งเงินรายปี 90% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ภาษี และเงินสำรอง ให้กองทุน CMDF นั้น นายภากร ยืนยันว่าไม่กระทบสภาพคล่อง ตลท.มีเงินสำรองไว้ใช้อย่างแข็งแกร่ง โดยปัจจุบัน ตลท.มีทรัพย์สินทั้งหมดมูลค่า 18,000-23,000 ล้านบาท และมีสภาพคล่องที่ใช้เพื่อการลงทุนและพัฒนา ที่สำคัญกรณีที่มีเหตุจำเป็นกองทุน CMDF ก็ยังสามารถส่งเงินกลับมาสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์ได้ โดย ตลท.จะต้องส่งแผนงานและวัตถุประสงค์ให้กับคณะกรรมการของกองทุน CMDF พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการกองทุน CMDF มีประธาน ตลท.ดำรงตำแหน่งประธาน และมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ซึ่งต้องดำเนินการจัดตั้งภายใน 60 วัน คือ วันที่ 17 มิถุนายน 2562
นอกจากนี้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการของ ตลท. โดยจะมีกรรมการจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.เพิ่มอีก 1 คน เป็น 5 คน ขณะที่กรรมการที่มาจากตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกจะลดลงเหลือ 5 คน มีผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เป็นกรรมการ และ มีวาระ 3 ปี ไม่เกิน 2 วาระ โดยโครงสร้างคณะกรรมการ ตลท.ใหม่ ต้องดำเนินการภายใน 120 วัน คือ วันที่ 14 สิงหาคม 2562
นายภากร กล่าวว่า โครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการ ตลท.เป็นการเปิดโอกาสให้หลายองค์กรที่เข้ามาร่วมคัดเลือกตัวแทนกับ ก.ล.ต.มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีบุคคลหลากหลายประสบการณ์และความสามารถที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น
นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่จะเปิดให้บุคคลที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรง (Direct Asset) โดยไม่ต้องผ่านนายหน้าค้าหลักทรัพย์ในรูปแบบเดิม ซึ่งในส่วนนี้มองว่าจะกระทบต่อบริษัทหลักทรัพย์ที่จะต้องมีการปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยขณะนี้ ตลท.อยู่ระหว่างการศึกษาวิธีการคัดกรองคำสั่งซื้อขาย (Screening Order) ในรูปแบบ Direct Asset เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล คาดว่าในช่วงไตรมาส 4/2562 จะมีการนำร่องระบบบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและไตรมาส 1/2563 จะเริ่มนำมาใช้จริง.-สำนักข่าวไทย