ก.แรงงาน 26 เม.ย. – รมว.แรงงาน เชิญหลายฝ่ายร่วมถกปัญหาเกาหลี ‘ผีน้อย’ คุมเข้มทั้งมาตรการป้องกันและบังคับใช้กฎหมาย โดย 8 เดือนดำเนินคดีนายหน้าแล้ว 24 ราย 18 คดี
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานที่เกาหลีใต้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล กรมการท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ บริษัทท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทย สำนักงาน HRD korea สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว บริษัทสายการบินของไทย และเกาหลีใต้ รวมกว่า20หน่วยงาน ร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีมีคนไทยถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ปฏิเสธการเข้าเมืองและกักตัวไว้ที่สนามบินอินชอนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทาง รัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบความเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยว เพื่อบูรณาการและสร้างความร่วมมือเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ทั้ง การสกัดกั้นแรงงานที่มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงาน ดำเนินคดีผู้มีพฤติกรรม และการขึ้นบัญชีดำผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมลักลอบนำพาแรงงานไทยไปทำงานเกาหลีใต้
ทั้งนี้โดยหลักการจะดูแลแรงงานที่ไปให้ถูกต้องก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมความพร้อมของแรงงานที่จะเดินทางไปใหม่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงไปทำงาน ในเบื้องต้นมีแผนรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ ซึ่งกรมการจัดหางาน ได้จัดตั้งศูนย์รองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ เพื่อเป็นศูนย์ให้คำปรึกษา แนะแนว จัดสรรตำแหน่งงานว่างรองรับ สำหรับแรงงานที่จะเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้ โดยหารือกับทางการเกาหลี เพื่อเพิ่มโควตาการจัดส่งแรงงาน และขยายระยะเวลาการทำงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิง โดยก่อนการไปทำงานจะได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ การอบรมภาษาให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง กฎหมาย ทั้งยังมีการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมด้วย
ขณะนี้มีคนไทยที่เกาหลีใต้จำนวน 191,491 คน พำนักอยู่อย่างถูกกฎหมาย 49,833 คน พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมาย 141,658 คน แรงงานมีวีซ่าทำงาน 25,243 คน เป็นแรงงานที่จัดส่งโดยรัฐตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS)จำนวน 21,021 คน โดยมีโควต้าจัดส่ง 5,000 คนต่อปี ทำงานในภาคการผลิต ก่อสร้าง เกษตรกรรม ในปี 2561 มีการจัดส่งจำนวน 5,017 คน และปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.62) จำนวน 1,642 คน
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินมาตรการแก้ปัญหา ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ได้ตรวจสอบนายหน้าที่หลอกลวงและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันและตรวจเข้มเพื่อสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานที่สนามบิน มีผลการดำเนินการสกัดกั้นคนหางาน (ก.ย.61-เม.ย.62) ระงับการเดินทางผู้มีพฤติกรรมลักลอบไปทำงาน 2,698 คน เป็นหญิง 1,727 คน (ร้อยละ 64.01) ชาย 971 คน (ร้อยละ 35.99) ดำเนินคดีสาย/นายหน้า จำนวน 24 ราย 18 คดี
เรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญ เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานไทยลักลอบเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างเข้มงวดและจริงจัง เพราะเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับค่าจ้างสูงประมาณ 55,844 บาทต่อเดือน และนายจ้างเกาหลีมีความต้องการจ้างแรงงานไทย เนื่องจากมีฝีมือมีวินัย และอดทน.-สำนักข่าวไทย