กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – เกษตรฯ เดินหน้าวิสาหกิจแปลงใหญ่ กำหนดพื้นที่ รูปแบบการทำเกษตรกรรม และแนวทางการพัฒนา เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเร็วที่สุด เพื่อส่งต่อ ครม.ใหม่
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการวิสาหกิจแปลงใหญ่ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร ซึ่งวันนี้ได้ประชุมกำหนดพื้นที่แปลงต้นแบบตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรเสนอ 10 แปลง ได้แก่ ภาคเหนือเป็นแปลงสับปะรด อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง พื้นที่ 1,016.75 ไร่ เกษตรกร 159 ราย รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่สับปะรดปลอดภัยบ้านเสด็จ ซึ่งจะพัฒนาด้วยการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์จากสับปะรดโรงงานเป็นบริโภคผลสดแบบเกษตรปลอดภัยและส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า
ภาคกลางเป็นแปลงโคนม อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท พื้นที่ 1,000 ไร่ เกษตรกร 63 ราย เลี้ยงโคนมรายละ 10 ตัวและปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างน้อยคนละ 3 ไร่ รวมตัวเป็นสหกรณ์โคนมไพรนกยูง ซึ่งจะพัฒนาโดยปรับโครงสร้างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบให้สามารถรับน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตรกรได้ พัฒนาฟาร์มให้เข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม และพัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้เข้มแข็ง แปลงใหญ่อ้อยโรงงาน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่ 1,498 ไร่ เกษตรกร 30 ราย รวมกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ใช้น้ำแจงงามพัฒนา 99 พัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในเขตเพาะปลูกข้าวนาดอน จัดแปลงให้รองรับสำหรับใช้รถตัดอ้อยแทนแรงงานคนได้ ภาคตะวันออกเป็นแปลงมันสำปะหลัง ตำบลทุ่งพระยา อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,488 ไร่ เกษตรกร 53 ราย ซึ่งจะรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนพัฒนาโดยการสร้างมูลค่าด้วยการทำมันเส้นสะอาดเพื่อส่งโรงงาน เพิ่มผลผลิตและยกระดับเปอร์เซ็นต์แป้งซี่งจะใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ระบบน้ำในการปลูกมันสำปะหลัง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแปลงพืชอาหารสัตว์ไที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ 1,043 ไร่ เกษตรกร 70 ราย รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเลี้ยงสัตว์ ซึ่งพัฒนาด้านคุณภาพการผลิต ปรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และหญ้าเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปอาหารสัตว์สำหรับใช้ในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ แปลงเกษตรผสมผสาน ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ใช้พื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยจัดให้ผู้ไร้ที่ดินเข้าทำกินตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทำการเกษตร 5 ไร่ และปลูกที่อยู่อาศัย 1 ไร่ เกษตรกร 85 ราย ตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรปลูกผัก ไม้ผล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเลี้ยงโคนม ซึ่งจะพัฒนาโดยทำการเกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับสินค้าเกษตรให้เป็นเกษตรปลอดภัย รวมถึงจัดทำฟาร์มเสตย์เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ภาคใต้ ได้แก่ แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน สหกรณ์นิคมพนม จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ 22,702 ไร่ เกษตรกร 1,210 ราย ซึ่งจะส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานโดยการปลูกผักในพื้นที่ปาล์มน้ำมัน เพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แปลงเกษตรผสมผสาน ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่จัดให้ผู้ไร้ที่ดินทำกิน คทช. 972 ไร่ เกษตรกร 114 ราย รวมกลุ่มเป็นสหกรณ์การเกษตร-ไทรทอง จำกัด ปลูกปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว โกโก้ ทุเรียน มังคุด ผัก พืชไร่ ซึ่งจะพัฒนาอาชีพรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า จัดทำแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แปลงยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง พื้นที่ 1,000 ไร่ เกษตรกร 370 ราย ซึ่งจะพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มีศักยภาพในการรวบรวมยางพารา จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแปรรูปยาง รวมทั้งส่งเสริมให้สหกรณ์ส่งขายต่างประเทศเองได้ แปลงยางพาราสหกรณ์การเกษตร กรป.กลาง มะปรางมัน ปัตตานี จำกัด ตำบลช้างให้ตก อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี พื้นที่ 2,000 ไร่ เกษตรกร 556 ราย จะพัฒนาโดยลดการปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสม แล้วปลูกพืชแซมและพืชร่วมยาง เลี้ยงโคเนื้อ ผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นต้น ให้เป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนทำกิจกรรมทางการเกษตรเสริมเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น
“ที่ประชุมยังเพิ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวอีก 2 แปลง โดยให้คณะทำงานไปศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งแปลงต้นแบบทั้ง 12 แปลงจะเริ่มดำเนินการต้นฤดูกาลผลิตใหม่เดือนพฤษภาคมนี้” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย