กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – ครม.อนุมัติงบฯ 148 ล้านบาท รับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ดันเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ หลังล่าสุดระบาดจากจีนสู่เวียดนามเข้ากัมพูชา ชี้โรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุกร หากติดเชื้อไวรัสก่อโรคอัตราการตายของสุกรเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ป้องอุตสาหกรรมกว่าแสนล้านบาท
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ครม.วันนี้อนุมัติแผนใช้จ่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ( ASF) วงเงินงบประมาณ 148,542,900 บาท โดยปีงบประมาณ 2562 เป็นเงิน 53,604,900 บาท ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ 2563 เป็นเงิน 52,419,000 บาท และปีงบประมาณ 2564 เป็นเงิน 42,519,000 บาท โดยระยะเร่งด่วนเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค สำหรับระยะยาวให้ยกระดับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคให้มีมาตรฐานสากล โดยจัดสร้างโรงทำลายซากสัตว์ติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อ ASF คงทนในสภาพแวดล้อมสูง อีกทั้งหากทำลายโดยการฝังจะต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและการทำลายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีโอกาสที่เชื้อจะตกค้างและแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม หรือหากทำลายโดยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีวิธีการกำจัดซากที่ติดเชื้ออย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
สำหรับประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 210,978 ราย เป็นเกษตรกรรายย่อย 208,192 ราย เลี้ยงสุกรขุน 80,000 ตัว สุกรพันธุ์ 63,000 ตัว ลูกสุกร 733,000 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 2,758 ราย เลี้ยงสุกรขุน 8.8 ล้านตัว สุกรพันธุ์ 1.137 ล้านตัว และลูกสุกร 4.67 ล้านตัว ดังนั้น หากเกิดการระบาดของโรคแล้วทำลายสุกร กรณีเกิดโรคร้อยละ 30 ของสุกรที่เลี้ยง เสียหายรวม 21,168,000,000 บาท กรณีเกิดโรคร้อยละ 50 ของสุกรที่เลี้ยง เสียหายรวม 35,280,000,000 บาท หากเกิดโรคร้อยละ 80 ของสุกรที่เลี้ยงเสียหายรวม 56,448,000,000 บาท และถ้าเกิดการระบาดทั้งหมดจะเสียหายรวม 70,560,000,000 บาท รวมถึงผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป เนื้อสุกรมีชีวิต ด้านธุรกิจอาหารสัตว์ ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์อีกมหาศาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการพื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่เกษตรกรจำนวนมากและใช้ระยะเวลาฟื้นฟูเป็นเวลานาน
“หากไทยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี รวมทั้งระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดเป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากความต้องการสุกรของจีน เวียดนาม และกัมพูชาสูงขึ้น จากเดิมก่อนเกิดโรคราคาสุกรมีชีวิตของไทยกิโลกรัมละ 60 บาท หลังเกิดโรคคาดการณ์ว่าจะทำให้ราคาสุกรในประเทศเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 44,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น การยกระดับแผนเตรียมพร้อมรับมือโรค ASF เป็นวาระแห่งชาติจึงส่งผลดีทั้งการป้องกันโรค การเผชิญเหตุ การฟื้นฟู ตลอดจนการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจจากการส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดแคลนสุกร” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย