กรุงเทพฯ 28 มี.ค.-2 รัฐวิสาหกิจพลังงาน ทั้ง กฟผ. และ ปตท. วันนี้เหมือนนัดกันโชว์นวัตกรรม โดยพร้อมปรับตัวตามทิศทางอนาคตเทคโนโลยีใหม่ ดิสรัฟทีพ รวมไปถึงการเตรียมทดสอบไบโอดีเซลบี 8-10 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) องค์กรที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้ามาอย่างยาวนาน และกำลังถูกเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาท้าทายการทำงาน ก็ได้ประกาศตัวไม่หยุดนิ่ง พัฒนานวัตกรรมต่างๆ วันนี้เปิดตัวนำรถมินิบัสไฟฟ้ามาใช้ในพื้นที่สำนักงานและโรงไฟฟ้าจำนวน 11 คัน พร้อมเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 23 สถานี ใน 8 พื้นที่ ได้แก่โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง, โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น, โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา, โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา, โรงไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา,โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี, สำนักงานกลางและศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จ.นนทบุรี เพื่อนำร่องให้บริการประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป
ในขณะเดียวกันกฟผ.ก็ได้พัฒนาสถานีชารจ์ไฟฟ้าให้เป็นเป็นแบบสมาร์ทชาร์จ คือ ทั้งจ่ายไฟฟ้าและรับไฟฟ้าจากรถอีวี พร้อมทั้งเตรียมออกฉลากเบอร์ 5 ให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ผลิตและนำเข้าเพื่อจำหน่ายแล้ว 13 ราย ทาง กฟผ.ได้ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ.ในการ กำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพเบอร์ 5 โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มติดฉลากเบอร์ 5 จักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในเดือนกันยายนปีนี้ โดยจากผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า การที่วินมอเตอร์ไซด์ รวมทั้งผู้ใช้จักรยานยนต์ยังไม่นิยมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากนัก เนื่องจากการออกตัวช้า วิ่งช้า และต้องใช้เวลาชาร์จนาน 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและภาครัฐต้องแก้ปัญหานี้
ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานร่วมกันพัฒนา นำรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของขสมก. จำนวน 4 คัน เป็นรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ ด้วยการดัดแปลงเครื่องยนต์จากเชื้อเพลิงน้ำมันให้กลายเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 จากที่ปัจจุบันได้พัฒนารถยนต์นั่งใช้แล้วดัดแปลงเป็นอีวี แต่ปัญหาก็คือต้นทุนยังสูงอยู่ต้นทุนแปลง 2 แสนบาท หากรวมแบตเตอรี่อีก 4-5 แสนบาท ต้นทุนก็จะอยู่ที่ 6-7 แสนบาทต่อคัน ทั้งนี้กฟผ.ยังวิจัยเรื่องแบตเตอรี่เพื่อใช้ทั้งสำรองไฟฟ้าพลังงานทดแทนและใช้ในอีวี โดยการศึกษายานยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นการดำเนินการเก็บข้อมูลเตรียมพร้อมพัฒนาระบบไฟฟ้ารองรับ เพราะคาดกันว่าประเทศไทยจะมีรถอีวีไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคัน ในปี 2579
ด้านสถาบันนวัตกรรม ปตท. ที่อยู่อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เปิดบ้านให้เยี่ยมชมในโอกาสครบรอบ 20 ปี แห่งการก่อตั้ง ซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.และตอบสนองนโยบายด้านพลังงานของรัฐ พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มและประเทศ มีการสร้างพันธมิตรในการดำเนินงานวิจัย สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ สร้างความยั่งยืน โดยมีแผนที่จะเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็น 3% ของกำไรสุทธิ ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1% ของกำไรสุทธิ มีการพัฒนานวัตกรรม พลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ พลังงานลม แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน พืชพลังงาน เรื่องไบโอเทคโนโลยี เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยา เรื่องนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ(Smart City)
และเรื่องการใช้วัสดุสมาร์ท(smart materials) เช่น การคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เบากว่าเหล็กแต่แข็งแรง และผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันแบคทีเรียได้ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็พร้อมสนับสนุนเกษตรกรในด้านต่างๆ โดยเฉพาะร่วมแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำทั้งพัฒนาบี 100 เพื่อการส่งออกและทดสอบผสมบี 100 ในน้ำมันให้เพิ่มขึ้น ในสัดส่วน B8-B10 สำหรับรถยนต์กระบะในกลุ่ม ปตท.คาดว่าจะเริ่มทดสอบในสัปดาห์หน้า โดยจะใช้เวลาทดสอบประมาณ 1-2 เดือน หากผลพบว่าไม่มีปัญหากับรถยนต์และใช้งานได้เป็นปกติ ภาครัฐก็สามารถนำไปพิจารณาออกเป็นนโยบายให้จำหน่าย B8-B10 ได้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย