นนทบุรี 26 มี.ค. – พาณิชย์ติดตาม Brexit ใกล้ชิด มั่นใจระยะสั้นยังไม่กระทบไทย แต่ระยะยาวต้องเตรียมตัว
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ติดตามสถานการณ์ Brexit อย่างใกล้ชิด โดยพบว่าในชั้นนี้ความเปลี่ยนแปลงน่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด โดยภาพรวม Brexit เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจการค้าโลก แต่ไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เช่น อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานที่ต่ำ การเกินบัญชีดุลสะพัดสูง ทำให้รับมือกับความผันผวนภายนอกได้ดี
สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกจากไทยไปสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน โดยการส่งออกไป UK และ EU หดตัวในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 เพราะปัจจัยรายสินค้ามากกว่า Brexit อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ ส่งออกไปยุโรปลดลง เนื่องจากค่ายรถยนต์ย้ายฐานไปผลิตในยุโรปมากขึ้นและคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการหดตัวตามวัฏจักรของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า สนค.ให้ความสำคัญและติดตาม คือ หากการเจรจาระหว่างอังกฤษและอียูยังยืดเยื้อออกไปนาน ๆ จะส่งผลกระทบต่อการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่สินค้าไทยต้องปฏิบัติตามหรือไม่ อย่างไร เช่น โควตานำเข้าสินค้าเกษตรที่อังกฤษนำเข้าอยู่ภายใต้ปริมาณที่ไทยตกลงกับอียู (โควตาภาษีหรือ tariff quota) และอัตราภาษีศุลกากรจะใช้อัตราภายใน/นอกโควตาต่อไปหรือไม่ รวมทั้งสินค้าไทยที่ขึ้นท่าในอียูก่อนไปอังกฤษจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เสียภาษีอย่างไร
“รัฐบาลอังกฤษได้เข้ามาช่วยดูแลไม่ให้การค้าระหว่างประเทศกับประเทศใด ๆ ได้รับผลกระทบระยะสั้น โดยเตรียมแผนรับมือไว้แล้วสำหรับสินค้าที่อังกฤษนำเข้าผ่านท่าในอียู เพื่อป้องกันปัญหาการสับสนที่พรมแดนหากเกิดกรณี Hard Brexit หรือ No Deal Brexit สำหรับโควตาสินค้าเกษตรและอัตราภาษีใน/นอกโควตา รัฐบาลอังกฤษจะยังคงใช้ปริมาณและอัตราเดิมเหมือนกับที่อยู่ภายใต้อียูไปก่อน จนกว่าจะมีข้อตกลงกับอียู หลังจาก Brexit มีความชัดเจนขึ้น รัฐบาลอังกฤษจะจัดทำแผนปรับตัวอย่างน้อย 2 ปีข้างหน้าร่วมกับภาคเอกชน ดังนั้น คาดว่าระยะสั้นการส่งออกไทยไปอังกฤษจะยังไม่มีผลกระทบรุนแรงมาก แต่ระยะยาว ไทยอาจจะต้องเร่งเตรียมตัวเจรจา FTA กับทั้งอังกฤษและอียู เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ มีความชัดเจนและเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนไทยมากที่สุด” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว
ส่วนอีกประเด็นที่ผู้ส่งออกน่าจะต้องพิจารณา คือ ปัจจุบันส่งออกไปอังกฤษผ่านท่าเรือเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสจำนวนมาก เนื่องจากท่าเรืออังกฤษเล็กกว่า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอาหาร ถ้าแยกกฎระเบียบออกจากกันใช้ภาษีและมีเงื่อนไขโควตาต่างกัน ไทยอาจจะต้องส่งออกไปอังกฤษโดยตรงมากขึ้น ระยะนี้น่าจะศึกษาเส้นทางโลจิสติกส์รวมทั้งหา partner นำเข้าใหม่ที่อังกฤษเตรียมไว้ด้วย
ทั้งนี้ สินค้าทั่วไปที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบโควตาภาษี สินค้าไทยจะเสียภาษีศุลกากรในอัตรา MFN ภายใต้ข้อผูกพันใน WTO เนื่องจากไทยกับอียูและอังกฤษ ยังไม่มี FTA ระหว่างกัน การส่งออกไทยไปสหราชอาณาจักร มีสัดส่วนร้อยละ 1.6 ของการส่งออกรวมของไทย ขยายตัวร้อยละ 5.98 ในปี 2560 และหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.45 ปี 2561 ส่วนการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (ไม่รวม UK) คิดเป็นร้อยละ 8.3 ของการส่งออกรวมของไทย ขยายตัวร้อยละ 8.36 ในปี 2560 ขณะที่ปี 2561 ชะลอตัวเล็กน้อย แต่ยังขยายตัวร้อยละ 6.31 สหราชอาณาจักรนับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทยในอียู รองจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ แต่เนเธอร์แลนด์เป็นเมืองท่า จึงมีตัวเลขนำเข้าสูง ส่วนอังกฤษเป็นตลาดที่บริโภคสินค้าไทยจริง จึงเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง
สำหรับแนวทางรับมือ คือ ติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ Brexit อย่างใกล้ชิด และเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับ UK และ EU ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อรับมือในช่วงเปลี่ยนผ่านและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ช่วงเปลี่ยนผ่านไทยควรเตรียมการเจรจาพันธกรณีและแนวทางการจัดสรรโควตาภาษีที่ UK และ EU จะใช้หลัง Brexit เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของไทยมากที่สุด นอกเหนือจากการเจรจาประเด็นการค้าอื่น ๆ .-สำนักข่าวไทย