นนทบุรี 24 ก.ค. – พาณิชย์เผยตัวเลขส่งออก 6 เดือน ติดลบร้อยละ 7.09 จากผลกระทบโควิดน่าจะต่ำสุดแล้ว โอกาสน่าจะดีขึ้นช่วงครึ่งหลังปีนี้ โดยสินค้าเกษตรและอาหารไทยยังเป็นที่ต้องการชาวโลกสูง ย้ำปีนี้ติดลบแน่ แต่เป็นตัวเลขหลักเดียว
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถิติการส่งออกของประเทศในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 พบว่า การส่งออกยังคงติดลบอยู่ที่ร้อยละ 23.17 อัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 131 เดือน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 16,444 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบร้อยละ 7.09 คิดเป็นมูลค่า 114,343 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกยังคงลดลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากโควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 หลายประเทศ ทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าลดลงมีผลกับการส่งออกของไทย ประกอบกับราคาน้ำมันยังปรับราคาสูงขึ้นไม่มากมีผลกับการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันให้หดตัวลงตามไปด้วย โดยน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกลดลงร้อยละ 36.3 และราคาน้ำมันอาจไม่ฟื้นตัวเร็วนัก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 43.2 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 31.8 ทองคำลดลงร้อยละ 86 ข้าวลดลงร้อยละ 25.6 แต่เชื่อว่าการส่งออกภาพรวมผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และหลายตลาดเริ่มมีการกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยการส่งออกภาพรวมของประเทศทั้งปีคาดว่าจะติดลบอยู่ที่ร้อยละ 8-9
ขณะที่การนำเข้าในช่วงเดือนมิถุนายนติดลบร้อยละ 18.05 คิดเป็นมูลค่า 14,834 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบร้อยละ 12.62 คิดเป็นมูลค่า 103,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลดุลการค้าเดือนมิถุนายนเกินดุลที่ 1,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลการค้าในช่วง 6 เดือนแรก เกินดุล 10,701 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ทาง สนค.มีความเป็นห่วงในเรื่องของสถานการณ์ข้าวที่ส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าปีนี้การส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านตัน ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดูแลให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมกันต่อไป.-สำนักข่าวไทย