กรุงเทพฯ 22 มี.ค.- คดีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2533 เป็นอีก 1 คดีที่โจทก์และจำเลย ใช้เวลาต่อสู้ยาวนานร่วม 29 ปี กลายเป็นคดีมหากาพย์ที่สังคมจับตามานานว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอดีตตำรวจทั้ง 5 นาย ซึ่งเป็นจำเลย และวันนี้ศาลได้พิพากษาแล้วว่าพวกเขาพ้นผิด
การหายตัวไปอย่างลึกลับของนักธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปตะวันออกกลาง 3 วัน หลังนักการทูตซาอุดีอาระเบียถูกฆาตกรรม “โมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี” พระญาติสนิทกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุฯ กลายเป็นผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถูกเชิญตัวไปสอบปากคำ และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จนถึงทุกวันนี้ นาน 29 ปี การสืบสวนในทางลับพบข้อมูลอัลรูไวลี ถูกกลุ่มคนสีกากี 5 นาย อุ้มตัวจากโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ย่านสาทร นำตัวไปสอบสวนในโรงแรมฉิมพลี เพื่อรีดข้อมูลเหตุสังหารนักการทูตซาอุฯ แต่เกิดความผิดพลาด อัลรูไวลี เสียชีวิต จึงต้องทำลายหลักฐาน นำไปเผากลางไร่มัน ย่านศรีราชา ชลบุรี
2 ปีต่อมา ทีมสืบสวนคดีฆาตกรรมนักการฑูตซาอุฯ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และผู้ใต้บังคับบัญชา 4 นาย กลายเป็นผู้ต้องสงสัยอุ้มฆ่าอัลรูไวลี แต่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ อัยการสั่งไม่ฟ้อง
19 ปี ผ่านไป ดีเอสไอนำแหวนทองคำรูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่ง พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานปากเอกในคดีนี้ และเป็นหนึ่งในทีมสืบสวนคดีสังหารนักการทูตซาอุฯ อ้างว่าเป็นแหวนของอัลรูไวลี ที่ชุดอุ้มฆ่าเก็บได้ในถังน้ำมัน หลังเผาทำลายศพ มาใช้เป็นหลักฐานขอรื้อฟื้นคดี ทำให้ตำรวจ 5 นายตกเป็นจำเลย อัยการเห็นสั่งฟ้องทั้ง 5 นาย รวม 4 ข้อหาหนัก โทษสูงสุดประหารชีวิต
แต่ระหว่างสืบพยานโจทย์ ดีเอสไอกลับไม่สามารถนำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย พยานปากสำคัญ มาขึ้นเบิกความต่อศาลได้ เนื่องจากหลบหนีออกนอกประเทศ เพราะถูกศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีฆ่าคนตาย และหนีประกันในชั้นอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นศาลอุทรณ์และฎีกาเห็นพ้องในทิศทางเดียวกันว่า พ.ต.ท.สุวิชชัย ให้การสับสน ขัดกับคำให้การเดิม มีลักษณะต่อรองผลประโยชน์เพื่อให้หลุดพ้นคดีที่ตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าคนตาย จึงรับฟังไม่ได้ อีกทั้งวัตถุพยานแหวนทองคำรูปพระจันทร์เสี้ยว ที่พบในก้นถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ไม่พบร่องรอยการเผาไหม้ หรือหลอมละลาย อีกทั้งญาติสนิทของนายอัลรูไวลี ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นแหวนของนายอัลรูไวลี จึงพิพากษายกฟ้อง
แม้คดีอุ้มฆ่าอัลรูไวลี นักธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุฯ ได้จบสิ้นไปแล้ว แต่ พล.ต.อ.สมคิด และอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 4 นาย ที่ตกเป็นจำเลยสังคมมานาน 29 ปี ยังไม่จบสิ้น โดยเตรียมฟ้องกลับดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอและอัยการที่ทำคดีนี้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย