กรุงเทพฯ 19 มี.ค.- การเพิ่มขึ้นของประชากรเสือในผืนป่าไทย มาจากแนวทางการอนุรักษ์ที่ได้ผล ทำให้ป่าของไทยเป็นความหวังของอาเซียนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูจำนวนเสือมากขึ้น โดยใช้แนวทางเพิ่มจำนวนเหยื่อในป่าให้เพียงพอ ซึ่งจะทำให้เสือมีอาหารเพียงพอในการอยู่รอดได้ทั้งหมด
ผลการสำรวจเชิงนิเวศสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าไทยมีประชากรเสือโคร่งประมาณ 150-200 ตัวทั่วประเทศ เสือดาวอีกประมาณ 100-130 ตัว และในนี้มีเสือดำประมาณ 15 ตัวเท่านั้น โดยอัตราการเพิ่มของเสือในธรรมชาติของไทยยังเป็นไปอย่างช้าๆ แต่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนได้ชื่อว่าเป็นผืนป่าแห่งความหวังของเสือในภูมิภาคอาเซียน
อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ บอกว่า เสือในป่าธรรมชาติ 1 ตัว เฉลี่ยล่ากินกวาง 50 ตัว/ปี โดยเทียบอัตราส่วนแล้วป่าแห่งนั้นจะต้องมีกวางหรือเหยื่ออย่างน้อย 500 ตัว จึงจะมีความเหมาะสมในการล่าและอาศัยของเสืออย่างสมบูรณ์ การเพิ่มจำนวนเหยื่อให้เพียงพอเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะส่งผลเชิงบวกต่อประชากรเสือในอนาคต
ผืนป่าทับลาน ปางสีดา เป็นอีกแห่งที่พบเสือ 17-20 ตัว อาศัยอยู่ ตรงข้ามกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ไม่พบร่องรอยของเสือกว่า 10 ปี การตัดผ่านของถนน 304 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เสือไม่สามารถข้ามสู่ป่าเขาใหญ่ได้ ทางเชื่อมป่าเขาใหญ่-ทับลาน จึงเป็นการสร้างโอกาสต่อเสือและสัตว์ป่า จะได้กลับคืนสู่ผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่อีกครั้ง เพิ่มแหล่งอาศัยและโอกาสขยายประชากรเสือได้ตามเป้าหมายในอนาคต
ทางเชื่อมป่าถนน 304 แบ่งเป็นอุโมงค์ และสะพานยกระดับ จึงมั่นใจได้ว่า เสือ และสัตว์ชนิดอื่นๆ จะสามารถเดินทางจากทับลานไปเขาใหญ่ได้ ซึ่งนี่เป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลไทยได้ลงทุนจำนวนมาก
ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF ประจำประเทศไทย บอกอีกว่า จากการสำรวจโดยทีมวิจัยยังพบร่องรอยของเสือรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และพบร่องรอยของเสือในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และกุยบุรี แต่ยังต้องเดินหน้าในการป้องกันกลุ่มลักลอบล่าสัตว์ป่าทั้งจากในและนอกประเทศ ที่เป็นปัจจัยคุกคามส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเพิ่มโอกาสให้สัตว์ป่าไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์.-สำนักข่าวไทย