กรุงเทพฯ 11 มี.ค. – เกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อนการตลาดนำการผลิตสินค้าหม่อนไหม นำร่อง 7 จังหวัด คาดสร้างรายได้เพิ่มกว่า 30 ล้านบาท
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการลงนามทำสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา และอุทัยธานี กับผู้ประกอบการ 5 ราย โดยกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จะใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 มากำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในการจับคู่ค้าของทั้ง 2 ฝ่าย กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 ซึ่งในวันนี้ผู้ประกอบการทั้งหมดทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า โดยมีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์นำร่องขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิตสินค้าหม่อนไหม 800 ราย ผลผลิตรวมของทุกชนิด 200 ตัน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
นายกฤษฎากล่าวว่า จากนี้ไป พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องการขยายรูปแบบการซื้อขายสินค้าเกษตรตรงกับความต้องการของตลาดในสินค้าเกษตรทุกชนิด อีกทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงของเกษตรกร เนื่องจากเมื่อทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตและราคาตามที่ตกลงกัน เกษตรกรจึงมีรายได้แน่นอนและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สถาบันเกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ลดปัญหาค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วยการรับซื้อราคานำตลาดแล้วต้องมาเช่าโกดังเก็บ สิ้นเปลืองงงบประมาณอย่างยิ่ง ความสำเร็จของกรมหม่อนไหมครั้งนี้จะเป็นต้นแบบ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจแนวทางขับเคลื่อนระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการปฏิรูปภาคการเกษตรตามหลักตลาดนำการผลิตที่ได้ขยายผลความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเอกชนเพิ่มขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรในจังหวัด (จีดีพีภาคการเกษตร) สูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดและของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐบาล
ด้านนางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า มีผู้ประกอบการขานรับโครงการนำร่องนโยบายการตลาดนำการผลิตสินค้าหม่อนไหม 5 บริษัท ประกอบด้วย สินค้ารังไหม ได้แก่ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด และบริษัท ขอนแก่นสาวไหม จำกัด สินค้าหนอนไหม ได้แก่ บริษัท เอ็นทีจีเอส คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด สินค้าเส้นไหม ได้แก่ ร้านฅญาบาติก และ สินค้าแผ่นใยไหม ได้แก่ บริษัท ไทยซิลค์ โปรดักส์ จำกัด จากนี้ไปจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นในการวางแผนการผลิตสินค้าหม่อนไหมต่าง ๆ โดยจะสร้างการรับรู้เรื่องพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความเข้าใจในการตกลงซื้อขายผลผลิตระหว่างกัน ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเป็นธรรม และส่งผลให้สินค้าหม่อนไหมมีการพัฒนาทุกด้าน.-สำนักข่าวไทย