สศค. 8 มี.ค. – คลังจับมือคณะเศรษศาสตร์จุฬาฯ พัฒนาระบบลงทะเบียนบัตรสวัสดิการฯ ลดปัญหาเจ๊กระเป๋าตุงถือบัตรรูดซื้อสินค้า ปรับบทเรียนการช่วยเหลือให้ตรงจุด ตรงกลุ่ม ตามพื้นที่
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการวิจัย เรื่อง ออกแบบ พัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองรับการเปิดรับลงทะเบียนรอบใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละกลุ่ม แต่ละภูมิภาคได้ตรงจุดมากขึ้น ตามความต้องการของประชาชน เพื่อเป็นการจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจาก พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานแรกมีผลบังคับใช้แล้ว จึงต้องการนำบทเรียนที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 ปรับปรุงให้ดีขึ้น ปัจจุบันใช้เงินประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี ยืนยันไม่กระทบต่อฐานะทางการคลัง
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมนำไปใช้เปิดรับการลงทะเบียนรอบใหม่ทันที เพื่อให้การลงทะเบียนมีความชัดเจน และแม่นยำมากขึ้น เพราะขณะนี้แทบทุกพรรคการเมืองล้วนแต่ต้องการจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนรูปแบบต่าง ๆ จึงใช้ผ่านเครื่องมือที่วางรากฐานไว้ได้ แต่รูปแบบการดำเนินการหลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดยจะปรับรูปแบบทั้งเรื่องรายได้ การถือครองทรัพย์สิน ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนไปแล้ว 14.5 ล้านคน การได้รับบัตรสวัสดิการฯ ต้องนำมาฝึกอบรมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ยั่งยืน เพื่อไม่ให้กลับออกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่และเชื่อมโยงข้อมูล Big Data ของหลายหน่วยงานรัฐ จัดสรรสวัสดิการทิศทางเดียวกันไม่ซ้ำซ้อน
นายวรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ทางคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมเข้ามาช่วย สศค.จะใช้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล คาดว่าศึกษาเสร็จ 3-4 เดือนข้างหน้า เพื่อนำมาวิเคราะห์และออกแบบการให้สวัสดิการให้มีความเหมาะสมตรงกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพ ค่าเดินทาง เช่าบ้าน ชดเชยแวต ค่าไฟฟ้า ประปา หรือดูแลผู้สูงอายุรูปแบบต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุจำเป็นอย่างมากต้องหามาตรการรองรับดูแลในสังคมไทย.-สำนักข่าวไทย