กรมสรรพสามิต 6 มี.ค. – กรมสรรพสามิตแจงลดภาษีดีเซลร้อยละ 1-2 ลดปัญหาฝุ่น 2.5 – PM 10 รองรับนโยบายการลดมลพิษ PM ส่วนรถไฟฟ้ายกเว้นภาษี หนุนผู้ขับรถกระบะใช้ B20 และเร่งการใช้รถมาตรฐานยูโร 5
นางสดศรี พงศ์อุทัย รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 – PM 10 เป็นวาระแห่งชาติ หลังจากกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีรถยนต์ตามอัตราการปล่อย CO2 ตั้งแต่ปี 2559 แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหามลพิษจากท่อไอเสียที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ได้แก่ รถยนต์กระบะ และรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) เป็นเครื่องอ้างอิงมาตรฐานยูโร 4 จำนวนมาก หากยกระดับเป็นมาตรฐานยูโร 5 (PM ไม่เกิน 0.005) เร็วขึ้นจะลดปัญหาฝุ่นละอองได้มากขึ้น ที่ประชุม ครม.จึงเห็นชอบปรับลดอัตราภาษีรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะ 4 ประตู หากมีค่าฝุ่น PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร หรือการปรับแต่ง เพื่อให้รถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซล B20 ด้วยการปรับเปลี่ยน โปรแกรม ระบบท่อไอเสีย ตัวดักจับฝุ่น จะช่วยลดหาปล่อยฝุ่น PM ลดลง ผู้ประกอบการจะได้ปรับลดภาษีร้อยละ 1-2
นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า ยอมรับว่าค่ายรถยนต์ผลิตรุ่นยูโร 4 ยังไม่มั่นใจต่อการใช้น้ำมัน B20 หากใช้เครื่องเดิมเติม B20 เพราะเกรงว่าจะกระทบเครื่องยนต์ แต่เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการภาษีจูงใจให้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ดักจับฝุ่น รองรับการใช้น้ำมัน B20 ได้ ผู้ใช้รถกระบะจะเกิดความมั่นใจมากขึ้น การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์จะระบุในคู่มือรถ หากรถกระบะ 4 ประตู ราคา 1 ล้านบาท ราคารถใหม่จะลดลง 10,000 บาทต่อคัน เมื่อชาวบ้านใช้ B20 มากขึ้นจะช่วยเหลือชาวสวนปาล์มได้อีกทางหนึ่ง ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพืช ซึ่งเป็นผลผลิตภายในประเทศ นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังพร้อมลดภาษีป้ายทะเบียนประจำปี สำหรับการปรับแต่งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน B20 เพื่อลดมลภาวะ
“คาดว่าผู้ประกอบการค่ายรถยนต์จะปรับเปลี่ยนอุปกรณ์รถกระบะและทำตลาดออกมาในช่วงปลายปีนี้ เพื่อร่วมมือกับภาครัฐลดปัญหาฝุ่นละออง ปลายปีนี้จะเห็นรถกระบะเติมน้ำมัน B20 ออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะนี้ที่ปั๊มน้ำมันที่เติม B20 ได้ น่าจะรองรับได้เพียงพอ สำหรับค่ายรถยนต์ที่ผลิตรุ่นใหม่มาตรฐานยูโร 5 ปริมาณฝุ่นจะออกสู่บรรยากาศได้น้อยอยู่แล้ว มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้มีการลดฝุ่น PM ของรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะ 4 ประตู ที่ชำระภาษีสรรพสามิตแต่ละปีลดลงประมาณ 76 ล้านกรัมต่อปี ขณะที่ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทั้งระบบจัดเก็บได้นับแสนล้านบาท จากรถกระบะ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี“ นายณัฐกร กล่าว
นายณัฐกร กล่าวว่า การปรับลดอัตราภาษีรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) ภายใต้การส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีร้อยละ 2 ให้ลดลงเหลืออัตราร้อยละ 0 หรือได้รับการยกเว้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึง 31 ธันวาคม 2565 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี แต่หลังจากปีที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จะเก็บภาษีร้อยละ 2 ตามเดิม จากนี้ไปการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดมลภาวะ และผู้ประกอบการรายใดที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอต้องมาลงนามร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อใช้สิทธิ์การลดภาษีด้วยอีกด้านหนึ่ง เมื่อการใช้รถยนต์มาตรฐานเกรดสูงขึ้นและหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ปริมาณฝุ่นมลภาวะจะลดลงไปมากขึ้น เป็นผลดีต่อส่วนรวม.-สำนักข่าวไทย