กรุงเทพฯ 3 มี.ค. – ก.อุตฯ ใช้มาตรการ “4ป” ผนึก กอ.รมน.ตรวจร่วมเฝ้าระวังโรงงานระบายน้ำทิ้งเข้ม พบผิดกฎหมายสั่งฟัน 11 โรง พร้อมกำชับระวังเพลิงไหม้โรงงาน
นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทุกจังหวัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แจ้งเตือนและตรวจสอบโรงงานในพื้นที่ที่มีน้ำทิ้ง 2,657 โรงให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยห้ามระบายน้ำทิ้งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายออกนอกโรงงานโดยเด็ดขาด เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
“เรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จากระบบฐานข้อมูลคุณภาพน้ำทั่วประเทศหลายพื้นที่อยู่ในระดับเสื่อมโทรมมาก เช่น บางพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และบางปะกง ปกติฤดูร้อนปริมาณและอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำลำคลองจะลดลง หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงป้องกันและเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาตามแผนการตรวจกำกับโรงงานที่มีน้ำทิ้ง รวม 2,657 โรง ตรวจสอบแล้ว 369 โรง พบว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย 11 โรง และได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วน” นายสุรพล กล่าว
นายสุรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จะใช้มาตรการ “4ป” กับผู้ประกอบการที่ระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือ ปลุก ปราบ ปรับ และปิด ซึ่งมีความหมาย คือ ปลุก=ปลุกจิตสำนึก ปราบ=ปราบปรามตรวจสอบ ปรับ=ปรับจับและดำเนินคดี และปิด=ปิดโรงงาน ทั้งนี้ บางส่วนได้ตรวจบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นอกจากนี้ กระทรวงฯ สั่งให้ทบทวนแผนการตรวจกำกับโรงงานด้านมลพิษทางน้ำและเร่งรัดการตรวจกำกับโรงงาน เรื่องน้ำเสียให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคมนี้ พร้อมรายงานให้ผู้บริหารโดยด่วนทุกสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ได้ขอความร่วมมือให้โรงงานที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือลำน้ำสาธารณะ โรงงานที่มีปริมาณน้ำทิ้งต่อวันจำนวนมากและโรงงานที่ต้องจัดทำรายงาน รว.2 ฯลฯ ระมัดระวังการระบายน้ำทิ้งของโรงงาน หากพบว่าทำผิดกฎหมายจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ซึ่งการดำเนินการที่เข้มข้นดังกล่าวจึงมั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้ลำน้ำมีปัญหา ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคได้เต็มที่
นอกจากนี้ ในช่วงฤดูร้อนยังมีความเสี่ยงเกิดอัคคีภัยหรืออุบัติเหตุในโรงงานและเหมืองแร่ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงานแป้งมัน โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตภัณฑ์กระดาษ โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานสี ทินเนอร์ โรงงานพลาสติก โรงงานห้องเย็น และโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น เป็นต้น ซึ่งตอนนี้กระทรวงฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานดำเนินการตรวจกำกับ แนะนำ โรงงานและเหมืองแร่ในพื้นที่ให้ระมัดระวังการประกอบกิจการและปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดไปด้วยแล้ว.-สำนักข่าวไทย