กทม. 26 ก.พ. – เทคโนโลยี AI หวั่นทำคนตกงาน สสว.จัดโค้ชเสริมทักษะธุรกิจแบบ 4.0 สู้ ยกระดับเอสเอ็มอีแข่งขันยุคดิจิทัล
วันนี้เราจะไปดูประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบกับทุกอาชีพ สาขาธุรกิจ ไม่ต้องดูอาชีพอื่น อาชีพสื่อสารมวลชน ของเราไม่กี่วันที่ผ่านมา สถานีโทรทัศของจี เปิดตัวผู้ประกาศข่าวปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สะท้อนทิศทางธุรกิจยุคดิจิทัล ที่มีความพยายามการนำ AI เข้ามาทำงานแทนคน
ซึ่งแน่นอน การนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา อาจส่งผลดีต่อเจ้าของกิจการ ที่สามารถบริหารจัดการบุคลากร ได้คล่องตัวมากขึ้น ลดภาระการจ้างงานได้มาก แต่สิ่งสำคัญที่จะกลายเป็นปัญหาสังคม คือภาวะการว่างงาน ที่จะกระจายไปทุกประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย มีองค์กรวิชาการมหาวิทยาลัยระดับโลก ระบุว่า ใน 10 ปีข้างหน้า คนไทยเกือบ 5 ล้านคน จะโดน AI แย่งงาน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจ และลูกจ้างต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี
ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. โดยคุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ บอกว่า อาชีพที่โดนผลกระทบในยุคดิจิทัล และจำเป็นต้องปรับตัว โดยเรื่องต้นทุนเพื่อให้แข่งขันได้ ซึ่งธุรกิจที่มีผลกระทบแน่นอน คือ ธุรกิจที่มีการจ้างแรงงานเยอะๆ พวกโรงงานผลิต สินค้าแมสโพรดักส์ มีการจ้างงานเยอะๆ งานขายที่ใช้พนักงานขายมากๆ ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวในยุคดิจิทัล พยายามลดการจ้างงานลง เพราะแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็ลดคนไปแล้ว และนำเทคโนโลยีมาทดแทนมากขึ้น ในส่วนพนักงานลูกจ้างก็ต้องปรับตัว พัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญของตัวเองไปทำในงาน ที่ AI ไม่สามารถทำได้ ซึ่ง สสว. ก็มีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทุกกลุ่มให้ปรับตัว
ทีนี้ถามว่า ในยุคดิจิทัลนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเรียนรู้อะไร เร่งด่วน สสว. ยกตัวอย่างว่า เรื่องของการขายที่ปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องใช้เทคโนโลยีไอที งานระบบออนไลน์ โซเชียลมีเดีย มาช่วยทำการตลาด ขายสินค้าเกือบทุกประเภท อันนี้สำคัญ ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ เพราะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในประเด็นที่ สสว. จะลงไปให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทุกภูมิภาคทั่วไทย
โดย สสว. จะเริ่มจากการจัดหาโค้ช หรือผู้ฝึกสอน ที่จะลงไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เข้าไปให้ความส่วนนี้ต้องการผู้มีความสามารถ ประมาณ 1,700 คน ซึ่งกลุ่มโค้ชจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งในส่วนนี้ จะมี 190 คน เป็นผู้ช่วยชาญด้านเทคโนโลยี หรือเทค เอ็กซเพิร์ต ให้ความรู้ด้านไอที
ส่วนการลงพื้นที่ สสว. บอกว่า จะมีการแบ่งฐานพื้นที่ปฏิบัติการจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นกลุ่มๆ 8 กลุ่ม เช่น พื้นที่กรุงเทพ มีแนวคิด บางกอก ดิสรับชั่น เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการเดิมให้ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยี จังหวัดปัตตานี ส่งเสริมธุรกิจมุสลิม, จังหวัดชลบุรี และภาคตะวันออก ก็จะมีการปรับธุรกิจที่เป็นห่วงโซ่สอดรับแผนการลงทุน พัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กลุ่มจังหวัดพิษณุโลก ที่เป็น 4 แยกอินโดจีน ก็ไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำตลาดเชื่อมโยง กลุ่ม CLMV ซึ่งท้ายที่สุด โครงการผลิตโค้ช ลงไปช่วย ช่วยผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ตั้งเป้าหมาย ที่จะเข้าไปดูแลกว่า 400 กลุ่มธุรกิจ ให้เข้มแข็ง อยู่รอดได้ ในยุคดิจิตอล .- สำนักข่าวไทย