กรุงเทพฯ 18 ก.พ. – กฤษฎารับหลักการผู้แทนเกษตรกรที่ยื่นขอเสนอให้แก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกกฟก. โดยเร่งด่วน เห็นด้วยแก้ไขพ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เฉพาะกิจรับฟังข้อเสนอของผู้แทนสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) และสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) ซึ่งนำโดยนายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ที่ปรึกษาสกท. ซึ่งได้นำร่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. กฟก. ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างและกฎหมายของ กฟก. ได้เสนอแก่คณะกรรมการ กฟก. เฉพาะกิจให้ความเห็นชอบ สาระสำคัญคือ แก้ไขบทบัญญัติของพ.ร.บ. กฟก. ให้สามารถจัดการหนี้ทั้งที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ จากเดิมที่จัดการได้เฉพาะหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้น ซึ่งนายกฤษฎากล่าวว่า รับหลักการ แต่ขอให้เพิ่มเติมข้อกำหนดที่รับประกันได้ว่า หากรัฐอนุมัติงบประมาณในการจัดการหนี้หนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยอาจซื้อหนี้จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้มา แล้วให้สมาชิกฟก. มาผ่อนชำระกับกฟก. รัฐจะได้รับการชำระคืนครบถ้วน จึงได้ให้คณะอนุกรรมการฯ ไปเพิ่มข้อกำหนด โดยจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและระเบียบวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ ชี้แจงว่า ตามบทบัญญัติในพ.ร.บ. นั้น เมื่อกฟก. เข้าไปจัดการหนี้ให้เกษตรกรรายใดแล้ว ต้องช่วยเหลือด้านฟื้นฟูอาชีพด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่า เกษตรกรจะมีรายได้สำหรับดำรงชีพและชำระหนี้คืนแก่กฟก.
อีกมาตราหนึ่งคือ เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรและให้กรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่โดยกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการของสำนักงานเพื่อให้ได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร ให้สำนักงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรครบวาระ
คณะอนุกรรมการร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวรับที่จะนำไปเพิ่มเติมรายละเอียดตามข้อสั่งการ เพื่อจะนำเสนอคณะกฟก. เฉพาะกิจพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอให้ครม. เห็นชอบ หาก ครม. เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ผู้แทนสกท.และสค.ปท. ขอให้นายกฤษฎาเร่งรัดดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ. กฟก. ให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้สิน ได้กลับมามีอาชีพและมีรายได้อย่างมั่นคง โดยผู้แทนเกษตรกรพึงพอใจผลการยื่นข้อเสนอดังกล่าว ดังนั้นจากที่ตั้งใจว่า จะมารวมตัวกันรอคำตอบที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงยินดีที่จะแยกย้ายเพื่อไปรอฟังความคืบหน้าของเรื่องที่เสนอในภูมิลำเนาของตนเอง . – สำนักข่าวไทย