กทม. 13 ก.พ. – เร่งสนองวาระแห่งชาติแก้ฝุ่นอันตราย โรงกลั่นทุกแห่งผลิตน้ำมันยูโร 5 ปี 66 ส่วนปี 64 ปัญหาไร่อ้อยไฟไหม้ต้องเป็นศูนย์
สถานการณ์ฝุ่นอันตราย PM 2.5 กลับมารุนแรงในเขตกรุงเทพอีก ในขณะที่หลายพื้นที่ทั้งเหนือ อีสานก็ประสบปัญหาเช่นกัน เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไข กระทรวงอุตสาหกรรมประชุมประกาศปี 64 อ้อยไฟไหม้จะเป็นศูนย์ กระทรวงพลังงานเร่งแผนประกาศใช้น้ำมัน EURO ภายในปี 66
โดยกรมควบคุมมลพิษได้ระบุถึงปัญหาของ ฝุ่น PM 2.5 ว่าร้อยละ 60 เกิดจากรถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 35 เกิดจากการเผาในภาคเกษตร และร้อยละ 5 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ทุกหน่วยงานจึงไปหาทางแก้ปัญหาทุกรูปแบบมีการเข้มงวดจับรถควันดำ วานนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับค่ายรถยนต์ประกาศจะผลิตรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ทั้งหมดภายในปี 64
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าโรงกลั่นทั้ง 6 รายพร้อมผลิตน้ำมันดีเซลคุณภาพยุโรประดับที่ 5 หรือยูโร 5 ได้ทั้งหมดภายในปี 2566 จากเดิมเริ่มผลิตปี 2567-2568 ซึ่งจะทำให้ช่วยลดปริมาณฝุ่นดีขึ้น เพราะมาตรฐานยูโร 5 ปลดปล่อยกำมะถันได้ต่ำลงเหลือ 10 PPM (หรือ 10 ส่วนในล้านส่วน) จากปัจจุบันมาตรฐานยูโร 4 อยู่ที่ 50 PPM ซึ่งในกรณีที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ประกาศผลิตรถยนต์ยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2564 นั้น นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะรถยนต์ยูโร 5 เมื่อใช้น้ำมันยูโร 4 จะช่วยลดฝุ่นได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากใช้น้ำมันยูโร 5 แล้วจะลดฝุ่นประมาณร้อยละ 25
แต่ในระหว่างนี้ก่อนถึงปี 66 ก็จะมีมาตรการ จูงใจให้เกิดการผลิตยูโร 5 ให้มากที่สุด จากปัจจุบันมีเพียงกำลังการผลิตบางส่วนของโรงกลั่นจีซีและบางจากฯ ที่ผลิตยูโร 5 ได้ และปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้ดีกว่า ยูโร 4 โดยออกเป็นยโร 4 พลัส ซึ่งจะปล่อยกำมะถันลดลงจาก 50 พีพีเอ็ม เหลือ 30 พีพีเอ็ม ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพอากาศให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรก็ตาม โรงกลั่นจะต้องมีต้นทุนสูงขึ้นด้วยการปรับปรุงอุณหภูมิการกลั่นสูงขึ้นและนำเข้าน้ำมันดิบคุณภาพสูง ทางกระทรวงพลังงานจึงจะช่วยในการลดต้นทุนโรงกลั่น เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค โดยเตรียมจะประกาศลดสำรองน้ำมันดิบทางกฎหมายลงจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 1 จะกำหนดพื้นที่ให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลยูโร 5 เป็นลักษณะโซนนิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ให้มีการขายน้ำมันยูโร 5 หรือเกรดพรีเมี่ยมให้มากที่สุด ด้วยราคาขายใกล้เคียงหรือสูงกว่าราคาน้ำมันไบโอดีเซลบี 7 ไม่มาก จากราคาจำหน่ายมีความแตกต่างประมาณ 3.50 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันจะมีการรณรงค์เพิ่มการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษบี 20 เพิ่มมากขึ้น โดยเตรียมความพร้อมถึงการทดสอบในกลุ่มรถยนต์ทั่วไป เช่น รถกระบะ 1 ตัน จากปัจจุบันบี 20 ใช้เฉพาะรถบรรทุก รถโดยสารขนาดใหญ่ และเรือโดยสารสาธารณะ ขณะนี้การทดสอบการใช้บี 20 ในรถของ ขสมก. 2,075 คัน พบว่าช่วยลดปัญหาการปล่อยควันดำไอเสียได้สูงถึงร้อยละ 50 นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหา PM 2.5 แล้ว และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มอีกด้วย
ด้านการเผาไร่อ้อยขณะนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ปลูกอ้อยที่จำนวนอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านตันอ้อยต่อปี เป็นเพราะขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ต้องใช้ต่างด้าว ที่สำคัญแรงงานจะไม่ยอมตัดอ้อยสด หากไม่เผาไร่อ้อย หรือหากตัดอ้อยสดต้องเพิ่มค่าแรงเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นปัญหาปวดหัวในหลายพื้นที่ วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน. ประชุมร่วมกับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ก็เห็นร่วมกันว่าควรกำหนดเป้าหมายตามเดิมคือปี 64 จะตัดอ้อยสดทั้งหมด ไม่มีการเผาไร่ และจะเสนอ ครม.ใช้งบประมาณสนับสนุน โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจรทั้งด้านแหล่งน้ำ รถตัดอ้อย รถบรรทุกอ้อย รวม 6,000 ล้านบาทในปี 62-64 อัตราดอกเบี้ยที่เกษตรกรจะจ่ายจะอยู่ที่ร้อยละ 1 ให้รัฐอุดหนุนเพิ่มจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งปัจจุบัน พบว่า รถตัดอ้อยของไทยขณะนี้มีเพียง 1,000 คัน หากตัดอ้อยทั้งหมด จะต้องมีไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 คัน และพื้นที่อ้อยเมืองไทยเป็นพื้นที่แปลงเล็ก จะต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวเป็นเกษตรแปลงใหญ่เพื่อให้เกิดการบริหารใช้รถตัดอ้อย และที่สำคัญ ราคารถตัดอ้อยสูงมาก ราคาประมาณ 8-15 ล้านบาท/คัน ส่วนรถมือ 2 อยู่ที่ 3 ล้านบาท/คัน .- สำนักข่าวไทย