อภ.24 มค..-องค์การเภสัชกรรมได้รับรางวัลระดับโลก Facility Of The Year Awards 2018 (FOYA) ด้านโรงงานผลิตยาและเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับการปรับปรุงใหม่
ภญ.ดร.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การฯยังได้รับรางวัล Honorable Mention Facility Of The Year Awards 2018 จากสมาคม ISPE ที่มีสมาชิกกว่า 18,000 ราย ใน 90 ประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นรางวัลระดับโลกที่ เน้นถึงความทันสมัย การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตยาที่มีคุณภาพสูง และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของโรงงาน
รองผู้อำนวยการองค์การฯ กล่าวต่อไปว่า ISPE (International Society for Pharmaceutical Engineering) มองว่าโรงงานผลิตยารังสิต 1 ที่มีการออกแบบด้านคุณภาพ และมีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งเป็นโรงงานที่มุ่งหวังผลิตยาที่มีคุณภาพให้ผู้ป่วยเอดส์ได้เข้าถึงยาดี มีคุณภาพ ส่งผลให้มีชีวิตยืนยาว และดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และยาทั่วไป ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา GMP-PIC/S จากอ.ย. และได้รับการรับรองโรงงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO PQ) ในส่วนของยาต้านไวรัสเอดส์ ยาเอฟฟาไวเรนซ์ มีสายการผลิต 4 สาย แบ่งเป็น ยาแคปซูล 1 สาย และยาเม็ด 3 สาย มีกำลังการผลิตถึง 1,700 ล้านเม็ด/แคปซูลต่อปี และในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มพื้นที่ Pilot Plant และสายการผลิตที่ 5 รองรับการผลิตยาเม็ด และการบรรจุยาลงแผงแบบความเร็วสูง คาดว่ากำลังการผลิตในอนาคตจะสามารถเพิ่มเป็น 4,500 ล้านเม็ด/แคปซูลต่อปี
โรงงานดังกล่าวสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการด้านยาของประเทศ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเภสัชอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีการผลิตยา การออกแบบระบบให้โรงงานมีศักยภาพในการผลิตสูง โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ด้านคุณภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน การควบคุม และประกันคุณภาพ การจัดเก็บ กระจายยา ใช้ระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ (Building Automation System, BAS ) เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมในห้องสะอาดตลอดเวลา ทั้งก่อนผลิต ระหว่างกระบวนการ และหลังการผลิต
นอกจากนี้ทุกระบบได้ผ่านการตรวจรับรองความถูกต้องตามมาตรฐาน GAMP (Good Automated Manufacturing Practice) และ US FDA 21 CFR Part 11 การจัดการข้อมูลผลการวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการทั้งทางเคมีและจุลชีววิทยา เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์วัตถุดิบจะตรวจวิเคราะห์เอกลักษณ์ของวัตถุดิบทั้ง 100% ที่นำมาใช้ในการผลิตยาให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP/PICS โดยใช้เทคนิค Infrared spectroscopy (Near-infrared, Raman-infrared) มีการตรวจบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ระหว่างการผลิตจนกระทั่งยาสำเร็จรูป การประกันคุณภาพมีการนำระบบจัดการคุณภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ ( Electronic Quality Management System: EQMS) มาใช้บริหารจัดการคุณภาพ มีกระบวนการตรวจสอบซ้ำ เพื่ออนุมัติกระบวนการชั่งยา การผลิตยา การบรรจุ เพื่อให้กระบวนการผลิตยาเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ยา ทั้งทางด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ -สำนักข่าวไทย