กรุงเทพฯ23 ม.ค. – “กอบศักดิ์” มั่นใจ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งช่วยหนุนให้แนวโน้มการลงทุนดีขึ้น
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ที่ได้มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานั้น ช่วยทำให้ความไม่แน่นอนหายไปและจะเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะภายใน 5 วันจะต้องมีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งออกมา ซึ่งนำไปสู่การลงสมัครรับเลือกตั้งเกิดขึ้นและทราบรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคการเมืองจะเริ่มต้นหาเสียงอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอยมาหลายปีและถือเป็นของขวัญในวันนี้ และตลาดหุ้นได้ให้การตอบรับข่าวนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากทุกคนต้องการก้าวสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยดังเดิม โดยช่วงนี้เป็นการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งนายกอบศักดิ์ระบุว่ารอคอยช่วงเวลานี้เช่นกัน
สำหรับการที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งและภาพลักษณ์ไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศนั้น นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งของไทยจะเสร็จและได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงกลางปี 2562 เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของประเทศไทย เนื่องจากการขับเคลื่อนหลัก คือ กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน และการที่รัฐบาลใหม่ยังทำให้การเชื่อมโยงระหว่างไทยและชาติสมาชิกอาเซียนดียิ่งขึ้นเชื่อมโยงกันมากขึ้น
ด้านการลงทุนในประเทศไทย เชื่อว่าแนวโน้มการเข้ามาลงทุนของต่างชาตินับจากนี้ไปจะมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการลงทุนหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) จะเชื่อมโยงกันเป็นทำให้ไทยเป็นสะพานเชื่อม 2 มหาสมุทรระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียที่มีการเรียกร้องกันมานานแล้ว และทำให้ประเทศไทยเป็นประตูของจีนตะวันตกเป็นจุดสำคัญของโครงการ One Belt One Road (OBOR) ของจีน รวมถึงเป็นจุดสำคัญของอินโดแปซิฟิคจุดสำคัญของลุ๊คกิ้งอีสต์ของอินเดีย ดังนั้น ขณะนี้ประเทศไทยจึงอยู่ในจุดที่ได้เปรียบที่สุด เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างอินเดียและจีน รัฐบาลจึงผลักดันโครงการ SEC
“ที่ผ่านมาจากการสอบถามนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว ได้รับคำตอบว่าประเทศไทยแม้มีปัญหาทางการเมืองหรือความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติในการเดินเครื่องการผลิตในโรงงาน เพราะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ของกรุงเทพเท่านั้น ซึ่งภาคเอกชนมองการลงทุนเป็นเรื่องระยะยาว ประกอบกับที่ตั้งของประเทศไทยเหมาะสม” นายกอบศักดิ์ กล่าว
ส่วนโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)นั้น ที่ผ่านมามีปัญหาการขับเคลื่อนโครงการโดยให้เวลาออกแบบเพียง 2 เดือนในขณะที่โครงการมีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านบาท ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ดังนั้น จะมีการออกทีโออาร์ใหม่ มีการขยายเวลาน่าจะแก้ไขเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ ยังแก้ไขกฎเกณฑ์บางอย่างเกี่ยวกับการรับภาระความเสี่ยงใหม่ โดยให้สอดคล้องกับสัดส่วนการถือหุ้นจากเดิมต้องรับภาระที่มาก เชื่อว่าการแก้ไขครั้งนี้ภาคเอกชนจะพอใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้เร่งดำเนินโครงการนี้ให้ได้ทันภายในรัฐบาลนี้ โดยลงนามสัญญาภายในเดือนพฤษภาคมนี้ สำหรับรายละเอียดโครงการจะทำการรับฟังความคิดเห็นนักลงทุนต่อไป ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ขอให้มั่นใจ เพราะรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยจะเลือกกู้แหล่งเงินทุนที่เงื่อนไขต้นทุนถูกที่สุดดีที่สุด. -สำนักข่าวไทย