นนทบุรี 18 ม.ค. – พาณิชย์เร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรแทรกแซงรับซื้อมะพร้าวแห้ง 5-6 พันตัน คาดใช้เงิน 30 ล้านบาท พร้อมส่ง กกร.สัปดาห์หน้าเพิ่มจุดเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในให้สำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะมะพร้าวที่เกษตรกรกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยกรมการค้าภายในกำหนดมาตรการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวที่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยได้จัดทำโครงการรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้งปี 2562 เพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรนำมะพร้าวผลมาแปรรูปเป็นเนื้อมะพร้าวแห้งจำหน่ายให้แก่โรงงานแปรรูป โรงงานน้ำมันมะพร้าว ซึ่งอธิบดีกรมการค้าภายในในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อนุมัติเงินเร่งด่วนจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 33.48 ล้านบาท เพื่อนำร่องดำเนินการรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้ง 5,000-6,000 ตัน หรือคิดเป็นมะพร้าวลูกกว่า 50 ล้านลูกในพื้นที่แหล่งผลิตมะพร้าวสำคัญ 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งจังหวัดจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามสัดส่วนการผลิตมะพร้าว คือ ประจวบคีรีขันธ์ 13.4 ล้านบาท ชุมพร 10.7 ล้านบาท จ.สุราษฎร์ธานี 5.4 ล้านบาท และ นครศรีธรรมราช 4 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้ให้จังหวัดกำหนดจุดรับซื้อให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร นำเนื้อมะพร้าวแห้งมาจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการและโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยเกษตรกรจะขายเนื้อมะพร้าวแห้งความชื้นไม่เกิน 6% ราคาเป้าหมายนำกิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ผู้รับซื้อจ่ายให้ 10 บาท รัฐจ่ายเพิ่มให้ 5 บาท และให้ค่าบริหารจัดการคุณภาพและค่ารวบรวมอีก 1.50 บาท ซึ่งเป็นการใช้เงินจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เข้าไปแทรกแซงตลาดรวมกว่า 30 ล้านบาท โดยเกษตรกรจะขายมะพร้าวต่อกิโลกรัมไม่ต่ำกว่า 7 บาทขึ้นไป แม้จะยังไม่เป็นที่ต้องการของเกษตรกรที่อยากขายมะพร้าวต่อกิโลกรัมเกินกว่า 10 บาทนั้น ถือว่ามาตรการนี้จะช่วยพยุงราคาไม่ให้ต่ำไปมาก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งนี้ กรมจะนำมาตรการนี้ส่งถึงชาวสวนพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ กรมการค้าภายในจะเร่งหาแนวทางป้องกันการเคลื่อนย้ายหรือป้องกันปัญหาลักลอบนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านตามชายฝั่งทะเลทั้งตะวันออกและตะวันตกของภาคใต้ โดยการเคลื่อนย้ายใด ๆ เข้ามาจะต้องมีการแจ้งปริมาณและการเคลื่อนย้ายให้เจ้าหน้าที่ของค้าภายในจังหวัดได้รับทราบ ซึ่งจะนำมาตรการนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ (กกร.) สัปดาห์หน้าพิจารณาออกมาตรการแจ้งปริมาณและการเคลื่อนย้ายมะพร้าวตามชายชั่งทะเลกันต่อไป
นายวิชัย ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ราคาไข่ไก่ หลังจากกรมการค้าภายในดำเนินมาตรการเพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากระบบและเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงไก่ไข่โดยเร่งด่วน โดยใช้มาตรการดึงผลผลิตออกจากระบบ ซึ่งร่วมกับ 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้) ผลักดันส่งออกไข่ไก่ 200 ตู้ ประมาณ 60 ล้านฟอง โดยมอบผู้ส่งออกที่มีศักยภาพรับภาระค่าใช้จ่ายส่งออกเอง 100 ตู้ ประมาณ 30 ล้านฟอง และอีก 100 ตู้ ประมาณ 30 ล้านฟอง ซึ่งกรมฯ สนับสนุนค่าบริหารจัดการส่งออกตู้ละ 150,000 บาท รวมวงเงิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาส่งออกตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม – 15 มีนาคม 2562
นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้ดำเนินมาตรการเพิ่มการบริโภคในประเทศ โดยเชื่อมโยงผู้ประกอบการ/เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่นำผลผลิตมาจำหน่ายผ่านงาน “มหกรรมธงฟ้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค” ที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ต่อเนื่องถึงปี 2562 ซึ่งปี 2562 มีแผนการจัดงานมหกรรมธงฟ้าฯ (ม.ค. – มี.ค.62) ในพื้นที่ 16 จังหวัด ซึ่งสามารถระบายผลผลิตไข่ไก่ผ่านช่องทางดังกล่าวได้ประมาณ 3 ล้านฟอง และจำหน่ายไข่ไก่ผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 70,000 แห่ง เพื่อระบายผลผลิตส่วนเกินในระบบและลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งสามารถระบายผลผลิตไข่ไก่ผ่านช่องทางดังกล่าวได้ประมาณ 1.5 ล้านฟอง. – สำนักข่าวไทย