กรุงเทพฯ 15 ม.ค. – กรมศุลกากรระบุเศรษฐกิจไทยดี มั่นใจแนวโน้มการจัดเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ปีงบฯ 62 จะทำได้เกิน 100,000 ล้านบาท
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรประเมินภาพรวมการจัดเก็บภาษีอากรสินค้านำเข้า-ส่งออก รวมทั้งจัดเก็บภาษีและรายได้อื่น ๆ แทนหน่วยงานอื่น ปีงบประมาณ 2562 จะสามารถทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 100,000 ล้านบาท โดยในช่วง 3 เดือนแรกปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.-ธ.ค.61) จัดเก็บรายได้แล้ว 26,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 8.9 เนื่องจากมีการนำเข้ารถยนต์ที่เดิมผู้นำเข้ามาจอดไว้และถึงกำหนดต้องนำเข้า ส่วนแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2562 จะยังคงดีต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจจะโตน้อยลง คาดโตร้อยละ 4 ซึ่งอยู่ช่วงการประเมินของกรมศุลกากรอยู่แล้ว
อธิบดีกรมศุลกากร ยังเปิดงานสัมมนา “Customs 2019 : The Next to Beyond” โดยเชิญ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรผ่านระบบ Bill Payment เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ภาพรวมปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการมาชำระเงินภาษีอากรต่าง ๆ ที่เคาน์เตอร์ของกรมศุลกากร ในรูปแบบเงินสดคิดเป็นร้อยละ 2 และรูปแบบแคชเชียร์เช็คคิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนผู้มาเสียอากรทั้งหมด หากหันมาใช้บริการผ่านระบบ Bill Payment จะช่วยลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการและผู้ประกอบการ รวมทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนให้กรมศุลกากรสามารถรับชำระค่าภาษีอากรและรายได้ อื่น ๆ ผ่านระบบ e-Payment ได้ 100 % พร้อมเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังให้ความสำคัญกับระบบการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-arrival Processing System) มาใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้า ซึ่งจะสามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า รวมถึงเป็นผลดีต่อการประเมินการวัดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า (TRS) และการจัดอันดับ Ease of doing business ของประเทศไทย และยังมีแผนต่อเนื่องในการจัดทาแนวทางขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัล โดยจะทำการพัฒนาระบบรับชาระเงินผ่าน e-Payment และการเชื่อมโยงข้อมูลทางการค้าจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถบูรณาการและใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว.-สำนักข่าวไทย