กรุงเทพฯ 18 ก.ย.-อธิบดีกรมสรรพากร เผยเตรียมจัดเก็บภาษีคนไทยมีรายได้ในต่างประเทศแล้วนำรายได้เข้าไทยเข้าไทย เริ่มปีภาษี 2567 เป็นไปตามกติกาโลก ยันไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อน หากเสียภาษีในต่างประเทศแล้ว ไม่เรียกเก็บเพิ่มในไทย
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงประกาศของกรมสรรพากร ที่มีแผนจัดเก็บภาษีสำหรับคนไทยที่มีรายได้ในต่างประเทศและนำรายได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ต้องเสียภาษีในปีที่นำรายได้เข้ามา ว่า ตามหลักการการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรและของประเทศไทย ใช้ 2 เกณฑ์การจัดเก็บภาษี คือตามถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 180 วัน และตามหลักรับรู้รายได้ทั่วโลก ทั้งนี้ ไทยมีการใช้ พ.ร.ก.จัดเก็บข้อมูล ส่งผลให้บริบทในการจัดเก็บภาษีตามหลักการทั้งสองข้อดังกล่าวเปลี่ยนไป เนื่องจากในอดีตข้อมูลของคนไทยที่มีรายได้อยู่ต่างประเทศนั้นยากที่จะได้มาหรือจำเป็นต้องมีการร้องขอ แต่ปัจจุบันในยุคเทคโนโลยีที่ข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนบริบทในการจัดเก็บภาษี ตามพัฒนาการกติกาการเก็บภาษีโลกที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกของ Global forum
ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากประเทศไทยมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับหลายหลายประเทศ รวมทั้งประเทศคู่ค้าสำคัญ หากเสียภาษีในต่างประเทศแล้ว ก็จะไม่มีการเก็บภาษีซ้ำซ้อนในไทยอีก สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีต้องไปดูคู่สัญญาภาษีซ้อนที่ทำกับแต่ละประเทศซึ่งจะมีอัตราแตกต่างกัน โดยในระยะสั้นจะมีการดำเนินการในลักษณะออกประกาศ แต่ในระยะยาวจะเป็นการออกประมวลรัษฎากรที่ชัดเจน ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดเพื่อการจัดเก็บภาษีที่ถูกต้องเป็นธรรมสำหรับคนไทยที่ไม่ว่าจะลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศแล้วมีรายได้ในลักษณะเดียวกัน ก็จะต้องเสียภาษีคล้ายๆ กัน โดยจะเริ่มจัดเก็บในปีภาษี 2567 และยื่นเสียภาษีในปี 2568
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการออกประกาศไปเมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา จะต้องมีวิธีการและหลักเกณฑ์ต่างๆ ออกเพิ่มเติมมาอีก และเตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพูดคุยกับกรมสรรพากรในลักษณะ Focus group ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร รวมทั้งสิ่งที่กังวลคืออะไร เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีข้อกังวลแตกต่างกัน เพื่อให้การดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด โดยขณะนี้ยังไม่มีการประมาณการเรื่องรายได้ เนื่องจากยังเป็นการดำเนินการเรื่องหลักการและวิธีการที่ต้องเปลี่ยนไปตามบริบทเศรษฐกิจของประเทศตามกติกาภาษีโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ตามประกาศของกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 15 ก.ย.66 มีแผนจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับคนที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยกรมสรรพากรมีคำสั่งให้บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้าประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินเหล่านี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศ
“ความท้าทายของการจัดเก็บภาษีปีปี 2567 คือเศรษฐกิจภาพใหญ่หลังสภาพัฒน์ปรับลดจีดีพีปี 2566 เหลือ 2.5 – 3.0% จากเดิมคาด 2.7-3.7% ซึ่งยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีบ้าง แต่กรมสรรพากร จะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพและเทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูล (data) และ AI ไปตรวจดูความผิดปกติการเสียภาษีอย่างไม่ถูกต้อง เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” นายลวรณ กล่าว.-สำนักข่าวไทย