ยอดใช้สิทธิ์ FTA- GSP 11 เดือนโตเกือบร้อยละ 16

นนทบุรี 14 ม.ค. – อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเผยยอดใช้สิทธิ์ FTA และ GSP ช่วง 11 เดือนปี 61 กว่า 68,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ  15.71 มั่นใจทั้งปีโตร้อยละ 9 หรือคิดเป็น 70,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 


นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยในช่วง 11 เดือนปี 2561 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวมอยู่ที่ 68,779.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ  15.71 โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ร้อยละ  75.09 ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA  มูลค่า 64,344.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ  15.29 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ  75.89 ของมูลค่าส่งออกที่ได้สิทธิภายใต้ FTA และมูลค่าการส่งออกภายใต้ GSP มูลค่า 4,435.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ  22.18 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ  65.05 ของมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP 


ทั้งนี้ การใช้สิทธิ FTA พบว่าตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 24,765.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  จีน มูลค่า 16,217.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ออสเตรเลีย มูลค่า 8,571.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ญี่ปุ่น มูลค่า 7,028.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 4,099.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 44.64 รองลงมาจีนและอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 26.61 และ 22.98 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวนอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้วยังพบว่ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน 

สำหรับปี 2562 มีความตกลง FTA ที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ นี้ คือ ความตกลง FTA อาเซียน-จีน (ACFTA) ที่เพิ่งจะบรรลุผลสำเร็จในการเจรจาทบทวนกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (PSRs) ส่งผลให้กฎที่ใช้ในการพิจารณาออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ของสินค้ากว่า 900 รายการเปลี่ยนแปลงไป เช่น สินค้ากลุ่มอาหารสำเร็จรูป กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยสินค้าส่วนใหญ่จะมีกฎที่ยืดหยุ่น คือ ผู้ประกอบการจะมีเกณฑ์เลือกใช้ประกอบการพิจารณายื่นขอ Form E กับกรมการค้าต่างประเทศเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีในการส่งออกสินค้าไปตลาดจีนและประเทศอาเซียนอื่นมากขึ้น จากเดิมเคยใช้เกณฑ์มูลค่าการผลิตในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 40 (RVC >40%) ได้เพียงเกณฑ์เดียวได้เพิ่มทางเลือกใช้เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากร (CTC) ที่ไม่ได้จำกัดสัดส่วนมูลค่าของวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศนอกภาคีในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย เพียงแต่กำหนดให้วัตถุดิบนำเข้าต้องผ่านการแปรรูปอย่างเพียงพอ และสินค้าที่ส่งออกมีการเปลี่ยนแปลงพิกัดฯ ในระดับที่กำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ คาดว่ากฎดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2562  

นอกจากนี้ ยังมีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) ถือเป็น FTA ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ปีนี้ โดยกรมฯ ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และเตรียมความพร้อมให้บริการ ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารองรับความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว โดยจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสแรกของปี 2562 และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในช่วงก่อนความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ รวมทั้งกรมฯ เตรียมจัดอบรม/สัมมนาให้ความรู้ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการยื่นขอหนังสือรับรองฯ เพื่อใช้สิทธิฯ AHKFTA ได้ถูกต้องด้วย 


สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ปัจจุบันมี 5 ประเทศที่ให้สิทธิ์กับไทย คือ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 11 เดือน การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิ์มากที่สุด คือ ประมาณร้อยละ  89 ของมูลค่าการใช้สิทธิ์ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า 3,967.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ  14.24 มีอัตราการใช้สิทธิ์ร้อยละ  68.72 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ GSP ซึ่งมีมูลค่า 5,773.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่น ๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และเลนส์แว่นตา 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่กรมฯ ประมาณการไว้ที่ ร้อยละ 9 คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 70,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ  97.2 ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ดังนั้น กรมฯ จึงมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกของไทยที่มีการกระจายตัวในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งการปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

เร่งประสานอินเตอร์โพลขอหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ”

ตำรวจเตรียมออกหมายจับเครือข่าย “หมอบุญ” ฉ้อโกง ลอต 2 รวมทั้งเร่งประสานอินเตอร์โพล ออกหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ” กลับมาดำเนินคดี

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ “ธัญพร มุ่งเจริญพร” เข้าป้าย

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ ลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย “ธัญพร มุ่งเจริญพร” พลิกชนะ “พรชัย มุ่งเจริญพร” แชมป์เก่าแบบขาดลอย คว้าเก้าอี้มาครอง นั่งนายก อบจ.หญิงคนแรกของจังหวัด

เลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ครึ่งวันเช้าคึกคัก

ภาพรวมการใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ครึ่งวันเช้าค่อนข้างคึกคัก มีประชาชนทยอยใช้สิทธิต่อเนื่อง ยังไม่มีรายงานการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง