กรุงเทพฯ 13 ธ.ค. – กกพ.มีมติยกอุทธรณ์จีพีเอสซี ภายหลังใช้สิทธิ์อุทธรณ์ขอให้ทบทวนคำสั่งไม่เห็นชอบให้รวมกิจการกับโกลว์ พิจารณาวินิจฉัยแล้ว ยืนคำชี้ขาด “ลดการแข่งขัน”
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 กกพ.มีมติไม่เห็นชอบให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน กระทำการรวมกิจการกับบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือโกลว์ ผู้รับใบอนุญาตอีกราย เนื่องจากเป็นการลดการแข่งขันตามนัยของมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ และข้อ 8 ของระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการรวมกิจการอันก่อให้เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน พ.ศ. 2552 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 จีพีเอสซี ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง กกพ.ที่มีมติไม่เห็นชอบ ซึ่งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ได้มีมติให้สำนักงาน กกพ.เสนอเรื่องอุทธรณ์จีพีเอสซีเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำวินิจฉัยคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดของ กกพ.
“เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 กกพ.มีมติให้ยกอุทธรณ์ของจีพีเอสซี ที่ใช้สิทธิ์อุทธรณ์คำสั่ง กกพ.ที่ไม่เห็นชอบให้รวมกิจการกับ โกลว์ โดย กกพ.วินิจฉัยแล้ว เห็นว่าแม้ธุรกิจของการจำหน่ายไฟฟ้าจะเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติและในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่จะมีผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าเพียงรายเดียว แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในพื้นที่ที่มีการอุทธรณ์มีผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า 2 รายในพื้นที่ การที่มีการรวมกิจการจนทำให้เหลือผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าเพียงรายเดียว โดยสภาพจึงเป็นการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การไม่เห็นชอบให้กระทำการรวมกิจการตามที่ยื่นขออนุญาต เนื่องจากเป็นการลดการแข่งขัน จึงเป็นการพิจารณาที่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว” เลขาธิการ กกพ. กล่าว
โดย กกพ.ได้เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ที่ได้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายตามที่จีพีเอสซี โต้แย้งคำสั่ง กกพ. แล้ว เห็นว่าการที่ กกพ.ไม่เห็นชอบให้กระทำการรวมกิจการตามที่ยื่นขออนุญาต เนื่องจากเป็นการลดการแข่งขัน จึงเป็นการพิจารณาที่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจีพีเอสซี ในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ได้ยื่นอุทธรณ์มา จึงฟังไม่ขึ้น แม้ปัจจุบันอาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่ระยะยาวการที่ยังคงมีการแข่งขันในพื้นที่ย่อมดีกว่ามีผู้ประกอบกิจการเพียงรายเดียว กกพ. จึงควรส่งเสริมให้ยังคงมีการแข่งขันต่อไป เพราะพื้นฐานของธุรกิจลักษณะนี้ผลประโยชน์สุดท้ายจะตกแก่ผู้รับบริการในพื้นที่ สำหรับขั้นตอนต่อไปทางสำนักงาน กกพ.จะแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้จีพีเอสซี รับทราบต่อไป .-สำนักข่าวไทย