1 มี.ค. – ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจฟ้อง คดียื่นฟ้อง 5 กรรมการ กสทช.ปมอนุมัติควบรวม “ทรู-ดีแทค” ชี้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย ไร้หลักฐานกลุ่มทุนแทรกแซง กสทช.ไร้อำนาจพิจารณาห้ามควบรวม
วันนี้ (1 มี.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในชั้นตรวจฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อท 199/2565 ระหว่าง น.ส.ธนิกานต์ บำรุงศรี โจทก์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทสช.) ทั้ง 5 ราย ได้แก่ ศ.คลินิก สรณ บุญไบชัยพฤกษ์, นายต่อพงศ์ เสลานนท์, พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.พิรงรอง รามสูต และ รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย เป็นจำเลยที่ 1-5 เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ AIS จึงเป็นผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. โดยเมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 จำเลยทั้ง 5 ราย ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู-ดีแทค” โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่า นายต่อพงศ์ เสลานนท์ จำเลยที่ 2 ไม่มีความเป็นกลางและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับ “ทรู” ส่วน ศ.คลินิก สรณ บุญไบชัยพฤกษ์ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ จำเลยที่ 1-2 ลงมติรับทราบเรื่องการรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู-ดีแทค” เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขณะที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ จำเลยที่ 3 เป็นประธานในการประชุมโดยใช้สิทธิลงมติ 2 ครั้ง ในวาระพิจารณาควบรวม “ทรู-ดีแทค” เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ใช้สิทธิลงมติ งดออกเสียงในการประชุมดังกล่าวก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การออกมาตรการเฉพาะของจำเลยทั้ง 5 ราย ที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู-ดีแทค” ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 5 ราย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยดังนี้ 1.พ.ร.บ.องค์กรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 82 บัญญัติให้ กทสช.จัดรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชน ก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการดูแลกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม ที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป
แต่สำหรับกรณีการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” เป็นการพิจารณาเพื่อมีมติหรือคำสั่งเกี่ยวข้องหรือผูกพันเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตเฉพาะรายคือ “ทรู-ดีแทค” เท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป จำเลยทั้ง 5 ราย จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป และมีผู้มีส่วนได้เสียก่อน ส่วนกรณีไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และการรับฟังความเห็นของที่ปรึกษาอิสระ จำเลยทั้ง 5 ราย ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการแล้ว
2.จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณา จึงไม่มีเหตุต้องห้ามพิจารณาเรื่องทางปกครอง ไม่ปรากฏว่ากลุ่มทรู มีพฤติการณ์แทรกแซงการทำงานของจำเลยที่ 2 จนขาดอิสระในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. จำเลยที่ 2 จึงสามารถเข้าร่วมประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการรวมธุรกิจของ “ทรู-ดีแทค” ได้
3.การรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” ไม่ใช่เป็นการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นเกินกว่า 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น แต่เป็นการรวมธุรกิจที่บริษัทจำกัด (มหาชน) 2 บริษัทขึ้นไปควบรวมกันแล้วไปจดทะเบียนบริษัทจำกัด (มหาชน) ขึ้นใหม่ โดย “ทรู-ดีแทค” สิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลเดิม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21, 22 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจ กสทช. ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตรวมธุรกิจของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด เพียงแต่ให้อำนาจ กสทช. เฉพาะในเรื่องการกำหนดมาตรการการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดเท่านั้น และที่ผ่านมา กสทช. เคยพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด 9 กรณี โดย 9 กรณีดังกล่าวมีการลงมติเพียงรับทราบรายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น ไม่มีกรณีใดที่ กสทช. มีมติอนุญาต หรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด จำเลยที่ 1-2 ลงมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู-ดีแทค” จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายทุกประการ
4.การประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระการพิจารณารายงานการควบรวม “ทรู-ดีแทค” กรณีจึงต้องบังคับตามข้อ 41 วรรคสมของระเบียบ กสทช.ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2555 โดยจำเลยที่ 1 ประธาน กสทช. ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียงเป็นเสียงชี้ขาด ทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดของ กสทช. มีเสียงของผู้เห็นด้วยว่า การรวมธุรกิจของ “ทรู-ดีแทค” ไม่เป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน การลงมติของจำเลยที่ 1 กระทำถูกต้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
5.พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การประชุม การลงมติ และการปฏิบัติงานของ กสทช. ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กสทช.กำหนด มิได้มีข้อกำหนดให้ กสทช.ต้องออกเสียงทุกครั้งทุกคราวที่มีการประชุม และมิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการงดออกเสียงไว้ การที่จำเลยที่ 3 งดออกเสียงในการประชุมพิจารณาการรวมธุรกิจของ “ทรู-ดีแทค” โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่น จึงไม่มีเหตุแห่งการที่จะพิจารณาว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
6.มาตรการเฉพาะที่จำเลยที่ 5 รายกำหนดเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” ได้พิจารณาข้อกังวลหลายประเด็น เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77 วรรคสาม ทั้งยังปฏิบัติตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ มาตรา 21, 22
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 5 ราย กระทำผิดตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องต่อไป พิพากษายกฟ้อง. -สำนักข่าวไทย