กรุงเทพฯ 5 ธ.ค.-ก.เกษตรฯ ระบุ ราคายางปรับตัวขึ้นแล้วกิโลกรัมละ 1.40 บาท ตลาด ตอบรับมาตรการแก้ไขยางของรัฐบาล เร่งโฆษกฯ ทำเนียบ ชี้แจงใช้ยางทำถนนทุกอปท. ทั่วประเทศ ครม.รับทราบหลักการแล้ว ใช้งบท้องถิ่นเองเริ่มทำถนนพาราซอยซีเมนท์ตั้งแต่ 20 ธันวาคมนี้
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แจ้งให้นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ช่วยนำเสนอข่าวเรื่องการทำถนนยางพาราซอยซีเมนท์ว่า เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตรทั่วประเทศ ซึ่งครม.รับทราบตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้ว ดังนั้นครั้งนี้ จึงไม่ต้องเสนอครม.อนุมัติเพราะใช้งบประมาณท้องถิ่นไม่ได้ของบประมาณรัฐบาล แต่ละท้องถิ่นพิจารณาเอง โดยจะจัดส่งคู่มือจากกรมทางหลวงให้ไม่เกิน วันที่ 20 ธ.ค.นี้ อปท. ทั่วประเทศ สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที ซึ่งท่านนายกฯเน้นย้ำให้เร่งช่วยเกษตรกรให้เร็วที่สุดในช่วงที่พวกเขาเดือดร้อน
สำหรับที่ครม. เห็นชอบให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามพื้นที่เปิดกรีดจริง 1,800 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ต่อรายนั้น หากมีคนกรีดยางจะแบ่งจ่าย 2 ส่วน คือ ให้เจ้าของสวนยาง ผู้เช่าหรือผู้ทำสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต และให้คนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่ เพื่อเป็นค่าครองชีพ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิที่เปิดกรีดแล้ว และขึ้นทะเบียนกับ กยท. ก่อนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย คิดเป็นพื้นที่ 9,448,447 ไร่ กยท. รายงานว่า ขั้นตอนจากนี้ กยท. จะติดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ ที่ ที่ทำการของกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่สวนยางตั้งอยู่ และเปิดรับแจ้งเข้าร่วมโครงการฯ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 61 – 28 ก.พ. 62 จากนั้นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ จะดำเนินการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ หากคุณสมบัติผ่านตามหลักเกณฑ์โครงการฯ จะส่งบัญชีรายชื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินผ่านบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. ของชาวสวนยาง โดยจะเริ่มจ่ายเงินได้ภายในเดือนธันวาคมนี้
สำหรับเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการแจ้งสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ ในส่วนของเกษตรกรเจ้าของสวนยาง ผู้เช่าหรือผู้ทำสวนยาง ต้องเตรียมเอกสารสิทธิ์ที่ดินฉบับจริง และบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนคนกรีดยางนอกจากต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ต้องนำหนังสือมอบอำนาจจากคนกรีดยางรายอื่นมาด้วย (กรณีมีคนกรีดยางหลายคน) รวมถึงสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. ทั้งในส่วนของเกษตรกรเจ้าของสวนยาง ผู้เช่าหรือผู้ทำสวนยาง และผู้กรีดยาง เพื่อใช้ในการโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชี
ทั้งนี้ สามารถแจ้งเข้าร่วมโครงการฯที่ การยางแห่งประเทศไทยสาขา/จังหวัดในพื้นที่ที่สวนยางตั้งอยู่หรือสถานที่ที่ กยท. กำหนด และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการโครงการยางตามนโยบายของรัฐ (ศคร.)
“จากมาตรการรัฐบาลแก้ไขปัญหายางพารา ส่งผลราคายางวันนี้ทั้งน้ำยางสดและยางแผ่นราคาเริ่มขยับขึ้นแล้วล่าสุดสูงกว่าเมื่อวานกิโลกรัมละ 1.40 บาท โดยโครงการทำถนนพาราซอยซีเมนท์ที่เหมาะสมทำในเส้นทางท้องถิ่นเกือบ 80,000 แห่ง สามารถดูดซับยางออกจากระบบมากถึง 1.4 ล้านตัน ยังได้ถนนที่มีความคงทน 5-7 ปี” นายกฤษฏา กล่าว
รมว.เกษตรฯยังกล่าวถึงกรณีปลัดกระทรวงเกษตรฯมีคำสั่งให้ น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มาช่วยราชการสำนักปลัดกระทรวงเกษตรฯ ว่า ไม่เคยคิดจะย้ายน.ส.จริยาเพราะเรื่องยางพารา และ จากการที่ปัจจุบัน มีปัญหาพืชผลเกษตรล้นตลาด ต้องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงหารือกับปลัดกระทรวง เห็นว่าอยากให้น.ส.จริยาเป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อศึกษาแก้ปัญหาพืช และปศุสัตว์ที่ล้นตลาด โดยพิจารณาพืช ปศุสัตว์ หรือประมงเพื่อแทนที่พืชเกษตรซึ่งล้นตลาด โดยให้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนใน 90 วัน เมื่อเสร็จภารกิจหลังจากนั้น น.ส.จริยาจะกลับไปปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสศก.เหมือนเดิม ขณะนี้ยืมตัวมาช่วยเพื่อให้งานเร็วขึ้น เพราะเป็นเลขาฯ สศก. ไปประชุมต่างประเทศบ่อยและเป็นเลขานุการหลายคณะกรรมการจึงให้มาหน้าที่เฉพาะ งานจะได้ไม่เสียหาย
“งานแก้ไขปัญหาราคายางกำลังเร่งรัด ขณะเดียวกันคุณจริยาต้องไปประชุมต่างประเทศด้วย จึงต้องจัดความสำคัญเร่งด่วนของงานให้ชัดเจน เพราะต้องการแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรล้นตลาดมีความสำคัญ จึงให้คุณจริยามาช่วยราชการเพื่อดำเนิน” รวม.เกษตรฯ กล่าว -สำนักข่าวไทย