fbpx

สมาชิกสหกรณ์ห้วยยอด ปลูกไผ่เลี้ยงหวานแซมยางพารา ทำเงินแสนต่อปี

ตรัง 11 ก.ค. – ปลูกไผ่เลี้ยงหวานแซมยางพารา ทำเงินแสนต่อปี อาชีพเสริมรายได้สมาชิกสหกรณ์ห้วยยอด จำกัด จังหวัดตรัง


ราคาปาล์มร่วง ราคายางตกช่วงนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ใด ๆ สำหรับ นายสมศักดิ์ ใสเพี๊ย เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด เจ้าของสวนไผ่เลี้ยงหวาน แห่งบ้านต้นโพธิ์ ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ที่ปลูกไผ่แซมยางพาราเป็นอาชีพเสริม บนเนื้อที่ 20 ไร่ จนสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน จากการจำหน่ายหน่อและลำไผ่ โดยมีตลาดหลักเจ้าของฟาร์มเลี้ยงกุ้งในจังหวัดตรังและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนหน่อไผ่จำหน่ายที่ตลาดในหมู่บ้าน

โดยจุดเริ่มต้นของการปลูกไผ่เลี้ยงหวานของเขา มาจากการให้คำปรึกษาแนะนำของเจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด เมื่อ 5 ปีก่อน ที่ต้องการให้สมาชิกสหกรณ์ฯ มีรายได้เสริม โดยไม่หวังพึ่งพาอาชีพหลักจากราคายางเพียงอย่างเดียว พร้อมแนะนำให้ทำเรื่องขอกู้เงินผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ (เสริม) สมาชิกสหกรณ์ได้ หากไม่มีเงินทุนเพียงพอ โดยสามารถรณรงค์หาเสียงขอกู้ปีต่อปี ไม่มีอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท


“ไผ่เลี้ยงหวานสีทองปลูกมา 12 ปีแล้ว ปลูกในร่องยาง เนื้อที่ 20 ไร่ ปีนี้กู้สหกรณ์มา 1 แสน ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 200 ต้น ปลูกขายหน่อที่ตลาดใกล้บ้าน กิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนลำต้นขายให้นากุ้ง เมตรละ 8 บาท ตัดขายเฉลี่ยสัปดาห์ละ 800 ต้น ส่งให้เจ้าของนากุ้ง ทั้งในตรังและจังหวัดใกล้เคียง เขาบอกว่า ใช้ไม้ไผ่ต้นทุนจะถูกกว่า ทนทาน มีอายุใช้นาน 5-6 ปี เฉพาะไผ่รายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20,000 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนเงินที่กู้มาจะเป็นค่าต้นพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าวางท่อน้ำ ตอนนี้พื้นที่แถวนี้มีคนปลูกไผ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทำรายได้ดี ใช้เวลาปลูกแค่ 8 เดือนก็เก็บหน่อ ตัดลำต้นขายได้แล้ว” นายสมศักดิ์ ใสเพี๊ย เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด เผยการปลูกไผ่เลี้ยงหวาน เป็นอาชีพเสริม

นางสาวพิมศิกรณ์ คีรีรักษ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด กล่าวถึงนายสมศักดิ์ ใสเพี๊ย เกษตรกรสมาชิกที่ปลูกไผ่เลี้ยงหวานว่า เป็นตัวอย่างเกษตรกรสมาชิกที่ดีในการมุ่งมั่นทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ด้วยการปลูกไผ่เลี้ยงหวาน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ (เสริม) แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ โดยนายสมศักดิ์ได้ทำเรื่องขอกู้กับสหกรณ์ เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา วงเงิน 100,000 บาท เพื่อนำมาลงทุนต่อยอดขยายพื้นที่ปลูกไผ่เลี้ยงหวานแซมยางพารา โดยเขากู้มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งเป็นเงินกู้ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ (เสริม) สมาชิกสหกรณ์ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลากู้ปีต่อปี โดยไม่มีดอกเบี้ยแต่อย่างใด

“จุดเริ่มต้นเลยจะทำอย่างไรให้สมาชิกมีรายได้เพิ่ม นอกจากอาชีพหลักยางและปาล์ม เป้าหมายเราอยากให้สมาชิกชำระหนี้ได้ แต่ไม่อยากให้มีรายได้ทางเดียว เพราะยางและปาล์มราคาก็ไม่แน่นอน จากนั้นได้มีการประชุมร่วมกันว่า ใครอยากมีอาชีพเสริมอะไรก็เสนอโครงการเข้ามา บางรายก็ปลูกพืชผัก ทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปศุสัตว์ เลี้ยงหมู ไก่ไข่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ บางรายก็ปลูกไผ่ ซึ่งโครงการนี้สหกรณ์ได้ดำเนินการ 5 ปีแล้ว มีสมาชิกมาขอกู้เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างที่แล้วขอมา 74 ราย ปีนี้มีเพิ่มขึ้นเป็น 94 ราย วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 1 แสน โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย ทุก ๆ ปีจะตั้งงบไว้ที่ 1 ล้าน แต่ปีนี้เพิ่มเป็น 5 ล้าน เพราะสมาชิกสนใจเยอะขึ้น เป็นงบของสหกรณ์ฯ เราเอง ไม่ได้กู้จากภายนอก” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด ระบุ


เธอยังกล่าวถึงแนวทางการดำเนินโครงการฯ ว่า การยื่นขอกู้ของสมาชิกแต่ละรายจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบและลักษณะโครงการฯ ซึ่งจะมีคณะกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณา โดยก่อนจะอนุมัติเงินกู้นั้นจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจก่อน เพื่อดูความเป็นไปได้สอดคล้องกับจำนวนเงินที่กู้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกขอกู้วงเงินต่ำสุดอยู่ที่ 8,000 บาท ส่วนใหญ่นำไปทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผักสมุนไพร ส่วนรายที่กู้สูงสุด 100,000 บาท มีจำนวน 3-4 ราย นำเงินลงทุนปลูกไผ่เลี้ยงหวาน เลี้ยงวัว เลี้ยงสุกร ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น โดยขณะนี้เงินโครงการฯ จำนวน 5 ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ นั้นใกล้จะหมดแล้ว โดยสมาชิกที่กู้ทุกรายจะต้องส่งเงินคืนทั้งหมดตามยอดจำนวนที่กู้ไป ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568 จากนั้นถ้าสมาชิกรายใดสนใจกู้ต่อก็สามารถมาทำสัญญากู้ฉบับใหม่ได้ในวงรอบของปีถัดไป

ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 4,700 ราย ส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน สำหรับรายได้ของสหกรณ์ฯ ส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจสินเชื่อและธุรกิจบริการ โดยธุรกิจสินเชื่อนั้น สหกรณ์ปล่อยกู้แก่สมาชิกในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากอัตราร้อยละ 3 ซึ่งสัดส่วนเงินกู้กับเงินฝากใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจปั๊มน้ำมันอีก 2 แห่ง ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย อาทิ อุปกรณ์การเกษตรและเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ย ยา เครื่องจักรกลทางการเกษตร เป็นต้น ให้บริการเช่าห้องประชุม ซึ่งสามารถจุคนได้ 700 คน ซึ่งเป็นรายได้หลักของสหกรณ์ในปัจจุบัน และล่าสุดมีการเตรียมจัดทำร้านกาแฟของสหกรณ์อีก 1 แห่งด้วย อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2567 สหกรณ์ฯ มีกำไรสุทธิ 32 ล้านบาท (ปิดงบ 31 มีนาคม 2567) มีทุนดำเนินการทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท ส่วนหนี้เสียไม่มี

“สหกรณ์ห้วยยอด มีธุรกิจสินเชื่อทำรายได้หลัก รองลงมาธุรกิจบริการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย เราขายทุกอย่าง ร้านทองเราก็มี ตอนนี้มีทั้งหมด 3 สาขา และกำลังจะเพิ่มอีกสาขา อยู่ระหว่างการหาทำเล ต้องบอกว่า สหกรณ์เรามียอดขายของสูงที่สุดในจังหวัดตรัง ขายสินค้าได้เกือบ 100 ล้านต่อปี” นางสาวพิมศิกรณ์ เผย

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด ยังกล่าวขอบคุณสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรังที่ได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลและให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งโดยปกติจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเฉลี่ยเดือน 1-2 ครั้ง ทำให้สามารถช่วยป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังส่งเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำในเรื่องส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิก มีการจัดโครงการฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ในอาชีพแขนงต่าง ๆ ที่สมาชิกสนใจ พร้อมพาไปดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วย

“ปกติเราจะไม่กู้เงินจากภายนอก แต่ปีนี้สหกรณ์ฯ เพิ่งทำเรื่องขอกู้เงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) จำนวน 4 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่และพัฒนาโปรแกรม ระบบแอปพลิเคชันสหกรณ์ให้ทันสมัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรออนุมัติจากคณะกรรมการ กพส.” นางสาวพิมศิกรณ์ คีรีรักษ์ กล่าว

ด้านนายสงบ เย็นใจ ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวถึงโครงการส่งเสริมอาชีพ (เสริม) ให้กับสมาชิกสหกรณ์ใน จ.ตรัง ว่า ขณะนี้มีหลายสหกรณ์ทั้งในและนอกภาคเกษตรได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้มีรายได้เพิ่ม โดยเฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 60 แห่ง จากทั้งหมด 70 แห่ง ได้ขับเคลื่อนอยู่แล้ว อย่างเช่น สหกรณ์การเกษตรปะเหลียน จำกัด ขณะนี้มีโครงการนำร่องปลูกพริกไทย มีทั้งปลูกจำหน่ายเมล็ดและต้นพันธุ์ มีการแปรรูปแบบครบวงจร หรืออย่างสหกรณ์ฯ ห้วยยอด ก็มีการจัดหาเงินทุนให้กับเกษตรกรสมาชิกเพื่อนำไปประกอบอาชีพเสริม โดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งสหกรณ์การเกษตรใน จ.ตรัง ส่วนใหญ่ค่อนข้างพร้อมในเรื่องเงินทุนสำหรับการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิก จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้บริการเงินกู้จากภายนอกมากนัก

“สหกรณ์ฯ ตรังที่ไม่กู้กรมฯ ก็มีอยู่หลายแห่งที่ไม่กู้ เพราะเขามีเงินเพียงพอ อย่างสหกรณ์ห้วยยอดไม่กู้ วังวิเศษก็ไม่กู้ แต่ปีนี้ห้วยยอดขอกู้เงิน กพส.ไป 4 ล้าน เพื่อพัฒนาโปรแกรม ระบบแอปพลิเคชันในสหกรณ์ฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ สหกรณ์ย่านตาขาวทำไปแล้วเมื่อปีก่อน ภาคเกษตรช้ากว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ตำรวจ เขาทำไปก่อนแล้ว เพราะเขามีความพร้อม ส่วนตลาดจำหน่ายผลผลิตพืชผลสีเขียวสหกรณ์ ตอนนี้ห้วยยอดยังไม่มี สมาชิกต่างคนต่างขายกันเอง สหกรณ์ฯ เมืองมีแล้วจัดทุกวันพุธ ย่านตาขาวมีแล้วจัดทุกวันพฤหัสฯ ปีนี้จะต้องโฟกัสตรงนี้มากขึ้น” ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวย้ำ. – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นายกตรวจน้ำท่วมเชียงราย

นายกฯ บินเชียงราย ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

“นายกฯ แพทองธาร” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เตรียมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมตรวจเยี่ยมการลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือของกองทัพ

ชิงทองระนอง68บาท

รวบแล้วโจรชิงทอง 68 บาท กลางห้างดังระนอง

รวบแล้ว 2 คนร้ายชายหญิง จี้ชิงทอง 68 บาท ในห้างดังกลางเมืองระนอง ฝ่ายชายรับสารภาพ ชีวิตตกต่ำ ไม่มีรายได้ จึงชวนหลานสาววัย 16 ปี มาร่วมก่อเหตุชิงทอง

น้องชายรัวยิงพี่สาวตายกลางงานศพแม่ อ้างฉุนไม่ให้ร่วมจัดงานศพ

น้องชายชักปืนรัวยิงพี่สาวเสียชีวิตกลางงานศพแม่ ภายหลังน้องชายเข้ามอบตัวกับตำรวจ อ้างเหตุผลฆ่าเพราะโมโห รู้สึกว่าพี่สาวใจดำมากที่กีดกันไม่ให้ตนช่วยจัดงานศพแม่

บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ

เจ้าหน้าที่ อย. ร่วมสืบนครบาล บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ มีเบาะแสต้นตอการทะลักของยาเขียวเหลือง ตะลึงพบซากจิ้งจกตายในหม้อต้ม ขณะที่เจ้าของโรงงานยันประกอบอาชีพโดยสุจริต

ข่าวแนะนำ

ภูเก็ตฝนตกต่อเนื่อง ชาวบ้านหวั่นเขาถล่มซ้ำ

หลังจากตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ จ.ภูเก็ต มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เผชิญกับน้ำท่วมขัง ขณะที่พื้นที่ ต.กะรน จุดที่เคยเกิดดินถล่ม มีผู้เสียชีวิต 13 ราย เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่อยู่อย่างผวา เพราะกลัวดินจากภูเขาจะถล่มซ้ำอีก

ช่วย 143 นักท่องเที่ยวติดเกาะราชาใหญ่ ขึ้นฝั่งภูเก็ตปลอดภัย

ศรชล.ภาค 3 ร่วมกับทัพเรือภาคที่ 3 ส่งเรือ ต.111 ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติ 143 คน ติดค้างบนเกาะราชาใหญ่ กลับเข้าฝั่ง จ.ภูเก็ต ได้อย่างปลอดภัย

น้ำในตัวเมืองหนองคายใกล้แห้ง หลังโขงพ้นวิกฤติ

หลายตำบลใน อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย น้ำยังท่วมสูงและเพิ่มระดับ บางจุดถูกตัดขาดมากว่า 2 สัปดาห์ ถือว่าหนักสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่ในตัวเมือง น้ำใกล้แห้ง หลังระดับแม่น้ำโขงใกล้พ้นจุดวิกฤติ

ภาคเหนือเร่งฟื้นฟูความเสียหาย ชาวบ้านหวั่นพายุถล่มซ้ำ

หลายพื้นที่ทางภาคเหนือยังไม่ทันฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา แต่ชาวบ้านต้องเตรียมตัวรับกับพายุลูกใหม่ หลายคนยังไม่กล้ากลับไปอาศัยในบ้าน เพื่อรอจนกว่าพายุลูกนี้จะผ่านพ้นไปก่อน