สกอ.26 พ.ย.-ทปอ.เผยยังไม่ทราบ รมช.ศธ.เสนอนายกฯใช้ ม.44 ยกเว้นกรรมการ-นายกสภามหาวิทยาลัยชุดเก่าไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน เเต่มีจุดยืนเดิม 2 ตำเเหน่งดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องจัดซื้อจัดจ้าง ด้านCHES ออกแถลงการณ์ฉบับ 2 ค้านเสนอนายกฯใช้ ม.44 พร้อมเตรียมตีแผ่ปัญหาทุจริตในรั้วอุดมศึกษา
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีเเห่งประเทศไทย (ประธาน ทปอ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายการแสดงบัญชีทรัพย์สินกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้ ว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เเต่ ทปอ.ยังเเสดงจุดยืนดังที่เคยเรียนกับสังคมไปแล้วว่า ทปอ.เห็นด้วยกับประกาศสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทุกประกาศ เเต่อยากขอให้สังคมเปิดใจถึงตำเเหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเเละกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่เข้ามาทำงานด้านวิชาการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งตอนนี้มีหลายมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ มีกรรมการสภาหลายคนขอลาออก โดยในส่วนของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่ตนเป็นอธิการบดีอยู่ ก็มีหลายคนยื่นเจตจำนง ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล เเต่ท้ายที่สุดผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงเช้าวันนี้ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง คัดค้านการใช้อำนาจมาตรา 44 หรือมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายแสดงบัญชีทรัพย์สินกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้ด้วยเหตุผลว่าจะไม่ยุติธรรม หากต้องบังคับใช้กฎหมายขณะที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่และให้บังคับใช้กับผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่เท่านั้น
นอกจากนี้ศูนย์ประสานงานฯ ขอยืนยันกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะมีการประชุมในวันที่ 27 พ.ย.นี้ว่าป.ป.ช. ต้องไม่เว้นการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลบางกลุ่มด้วยเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติรัฐที่กฎหมายจะต้องบังคับใช้กับทุกคน การที่มีคนร้องขอให้เว้นการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้กับบางคนนั้น กฎหมายปราบปรามการทุจริตอนุญาตให้ ป.ป.ช.ทำได้จริงหรือ และทำด้วยหลักคิดอะไร ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแต่กลับจะเป็นองค์กรผู้สร้างอภิสิทธิ์ชนทางกฎหมายปราบปรามการทุจริตเสียเองแล้วผลจะเป็นอย่างไร และถ้า ป.ป.ช.ทำผิดหลักกฎหมายนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน
การปราบปรามทุจริตในอุดมศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้ผลก็เพราะระบบอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยการอ้างเหตุผลต่างๆ เช่นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้เสียสละไม่มีอำนาจในการบริหารหรือตัดสินใจ ทำหน้าที่แค่อนุมัติหลักสูตรอนุมัติผู้สำเร็จการศึกษาเท่านั้น ซึ่งข่าวการฟ้องร้องในมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าสภามหาวิทยาลัยที่ว่าไม่มีอำนาจนั้นไม่ได้เป็นความจริง เหล่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยที่อยู่ในตำแหน่งที่มีคนร้องขอให้เว้นการแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้นได้เคยแสดงการป้องกันการทุจริตให้เป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ประเทศไทยมีบุคคลที่จะทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยเพียงเท่านี้หรือและหากท่านเหล่านี้เป็นบุคคลเสียสละโดยแท้จริงแล้วท่านสมควรแสดงการข่มขู่สังคมว่าจะลาออกยกชุด ซึ่งเป็นภาระในการบังคับใช้กฎหมายโดยถ้วนหน้าเช่นนั้นหรือ หาก ป.ป.ช. ยินยอมต่อการร้องขอในครั้งนี้จะเกิดคำถามว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยกับบุคคลเหล่านี้ด้วยหรือไม่ ศูนย์ประสานงานฯ กำลังจะหารือกันในการตีแผ่ปัญหาทุจริตและธรรมาภิบาลในรั้วมหาวิทยาลัยกับสังคม รวมถึงคดีที่เคยยื่นไว้ที่ ป.ป.ช.และไม่คืบหน้าอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้มหาวิทยาลัยกลับคืนมาเป็นเสาหลักของสังคมทั้งด้านวิชาการและคุณธรรมดังเดิม.-สำนักข่าวไทย