กทม.18 ธ.ค.-CHES ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.เรียกร้องให้กล้ายืนหยัดในความถูกต้อง กรณีสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ด้านป.ป.ช.เตรียมหารืออีกครั้ง 4 ม.ค.ปีหน้า
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ร่วมกับ ผศ.วิริยะ ศิริชานนท์ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) พร้อมกับประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง (ทป.มรภ.) และประธานกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย (สธม.) นัดรวมตัวกันที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อมาให้กำลังใจในการทำหน้าที่ที่ผ่านมาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มุ่งมั่นยืนหยัดให้เกิดการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินของสภามหาวิทยาลัยอย่างเปิดเผย แม้จะถูกแรงกดดันจากผู้มีอำนาจหลายกลุ่มและรัฐบาล จนในที่สุดรัฐบาลและ คสช. ต้องเป็นผู้ออกคำสั่ง ม.44 มาล้มล้างกฎหมายการยื่นบัญชีทรัพย์สินที่ตัวเองร่างขึ้นมากับมือเสียเอง ซึ่งถือว่าเป็นการบังคับและแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.และทำลายระบอบนิติรัฐลงอย่างสิ้นเชิง โดยหารือร่วมกับนายพงศ์เอก วิจิตรกุลผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.
โดยการหารือเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของกลุ่มฯ และประชาชนในสังคม ที่ต้องการเห็น ป.ป.ช.เป็นเสาหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยจะไม่สยบยอมต่ออำนาจใดที่เข้ามาแทรกแซงการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และต้องรักษามาตรฐานที่สูงในการทำงาน เพื่อให้เป็นที่พึ่งในด้านความเป็นธรรมและความโปร่งใสในสายตาของประชาชน โดยเฉพาะต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นยืนหยัดในการป้องปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างถึงที่สุด ไม่เลือกปฏิบัติหลายมาตรฐาน โดยมุ่งมั่นจัดให้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินของสภามหาวิทยาลัยดังเดิม ในช่องทางที่ยังพอทำได้ในขณะนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจาก ม.44 ล่าสุดที่ คสช. ประกาศออกมาแทรกแซงอำนาจ ป.ป.ช.ก็ตาม แต่นับจากนี้ ป.ป.ช. จะต้องไม่ถอยอีก จะต้องแสดงให้สังคมเห็นว่าได้ออกมาตรการป้องปรามที่เข้มแข็ง กำหนดอย่างชัดเจนให้สภามหาวิทยาลัยที่มีผลต่อการใช้อำนาจทางปกครองและอนุมัติงบประมาณ ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินตามข้อกำหนดของกฎหมายอย่างไม่มีเงื่อนไข
นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯยืนยันว่าจะเฝ้าจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ป.ป.ช.จะทำตามเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนในสังคม ไม่มีการโอบอุ้มคนเพียงส่วนน้อยที่ต้องการละเมิดกติกาที่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายอีก และทางกลุ่มฯ ยังพิจารณาถึงทางเลือกอื่นเพิ่มเติมที่อาจจะยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณี ม.44 ฉบับนี้ได้ทำลายหลักการและละเมิดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน โดยทาง ป.ป.ช. จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 4 มกราคม 2562 และจะเชิญทาง CHES และองค์กรพันธมิตร เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย