เวียงจันทน์ 26 พ.ย. – ธนาคารกสิกรไทยเล็งขยายสินเชื่อธุรกิจใน สปป.ลาว ตั้งเป้าปีหน้าสินเชื่อโต 3,000 ล้านบาท เน้นจับคู่ธุรกิจขยายฐานลูกค้าท้องถิ่น
นายพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบุญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวระหว่างพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมธนาคารกสิกรไทยใน สปป.ลาว ที่สำนักงานใหญ่ ถนนล้านช้าง ว่า ธนาคารเตรียมต่อยอดและขยายธุรกิจใน AEC+3 ดังนั้นธนาคารกสิกรไทยใน สปป.ลาว จึงได้จดทะเบียนเป็นธนาคารท้องถิ่นลาวดำเนินธุรกิจมาแล้ว 4 ปี ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2561 ตั้งเป้าหมายสินเชื่อที่ 2,400 ล้านบาท เงินฝาก 1,600 ล้านบาท และมีธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) 13,000 ล้านบาท โดยหากมองการเติบโตในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาการให้สินเชื่อมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 73 ต่อปี เงินฝากเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 29 และธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 17 ต่อปี ซึ่งทั้งหมดเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญยังไม่มีลูกค้าที่เป็นหนี้เสียหรือ NPLs แม้แต่รายเดียว ส่วนปี 2562 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่ออยู่ที่ 3,000 ล้านบาท เงินฝากเติบโตเป็น 2,000 ล้านบาท ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท โดยโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อแบ่งออกเป็นกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นร้อยละ 38 กลุ่มรัฐบาล สปป.ลาวร้อยละ 33 และกลุ่มลูกค้าคนไทยที่มาลงทุนใน สปป.ลาวร้อยละ 29 โดยกลุ่มลูกค้ามีทั้งภาคเกษตร ก่อสร้าง พาณิชย์ ขนส่ง เช่าซื้อ อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งธนาคารมีนโยบายที่จะชักชวนลูกค้าในประเทศให้เข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว โดยการจัดบริการจับคู่ธุรกิจ เพื่อการค้าการลงทุนระหว่างกันและเป็นการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น
“การเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาวปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องแจ่มใส เพราะมีโครงการ โครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น โครงการของรถไฟจากชายแดนลาวจากบ่อเต็ง จะผ่านมาถึงหลวงพระบาง แล้วเข้ามาถึงเวียงจันทน์ ก็จะเป็นโครงการที่ลดระยะเวลาการเดินทางจาก 3 วัน เหลือเพียง 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟเชื่อมต่อกับจังหวัดหนองคายถึงแหลมฉบังอีกด้วย เพราะฉะนั้นการค้าการลงทุนใน สปป.ลาวจะขยายตัวได้อีกมาก ” นายพัฒนพงศ์ กล่าว
นายภคพงษ์ พุมอาภรณ์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย ประจำ สปป.ลาว กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจลาวจะขยายตัวสูง แต่จำนวนประชากรใน สปป.ลาวที่เข้าถึงบริการทางการเงินมีเพียงแค่ร้อยละ 26 ซึ่งการจะเพิ่มเป็นร้อยละ 90 จะต้องใช้เวลาและใช้ต้นทุนสูงมาก แต่พบว่าชาวลาวนิยมใช้โทรศัพท์มือถือมีอัตราการใช้สูงถึงร้อยละ 91 จึงมองว่าการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ (Mobile Banking) และบริการดิจิทัล แบงก์กิ้ง เป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ลูกค้าธุรกิจของ สปป.ลาวเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น และช่วยลดภาระการบริหารเงินสด ซึ่งขณะนี้ธนาคารกสิกรไทยอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากธนาคารกลางของ สปป.ลาวเปิดบริการดิจิทัล แบงก์กิ้ง ใน สปป.ลาว ด้วยบริการ QR Payment ในปลายปี 2561
ทั้งนี้ ในสปป.ลาวมีธนาคารพาณิชย์กว่า 40 แห่ง โดยมีธนาคารต่างประเทศที่เป็นธนาคารท้องถิ่นทั้งจากเกาหลีใต้เวียดนามเข้ามาให้บริการ ส่วนประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์เข้ามาทั้งหมด 7 แห่ง โดยธนาคารกสิกรไทยได้ขอจดทะเบียนเป็นธนาคารท้องถิ่นของ สปป.ลาว ด้วยทุนจดทะเบียน 1,200 ล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2557 สาขาแรกที่โพนสีนวน และมีสำนักงานใหญ่ที่ถนนล้านช้าง นครหลวงเวียงจันทน์ โดยปี 2560 มีพนักงานมากกว่า 60 คน .-สำนักข่าวไทย