สธ.12พ.ย.–เลขาธิการ สพฉ.ไม่ชี้กรณีหญิงโดนสาดน้ำกรดขณะหลับ ใช่ฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลยังไม่เพียงพอ การเข้าข่ายวิกฤตฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตดูจากบริเวณที่โดนสาดน้ำกรด เช่น หน้า ตา จมูก และน้ำกรดเข้าไปทำลายทางเดินหายใจหรือไม่ ความเข้มข้นของกรดที่ใช้ ขณะเดียวกันหวังแพทย์นิติเวชคลี่คลายปมปริศนาเสียชีวิตว่ามาจากสาเหตุใด พร้อมชี้พยาบาลสามารถวินิฉัยเกณฑ์วิกฤตได้ไร้ปัญหาแต่ต้องมีแพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน ขณะที่การแยกว่าโดนน้ำกรดหรือน้ำร้อนสาด ดูได้จาก บาดแผลพุพองตุ่มใส โดนน้ำร้อน โดนน้ำกรด เนื้อเปื่อยเป็นชั้น
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเหตุการณ์สาดน้ำกรดนี้เป็นฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่เพราะขณะนี้ข้อมูลยังไม่แน่ชัด แต่ตามหลักเกณฑ์การ ฉุกเฉินวิกฤต แบ่งเป็น3 ระดับ วิกฤตเร่งด่วน วิกฤตไม่เร่งด่วนและวิกฤตถึงแก่ชีวิต ซึ่งกรณีการสาดน้ำกรดใส่ จากข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่าผู้เสียชีวิต เข้ารพ.แจ้งพยาบาลว่า มีอาการปวดแสบปวดร้อน ซึ่งไม่ได้ระบุชัดว่าโดนสารเคมีหรือน้ำร้อน เบื้องต้นก็ต้องล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการวินิจฉัยได้ยากเพราะหากเป็นกรดอ่อน ตามร่างกายอาจไม่มีร่องรอยมาก มีแค่รอยแดงตามผิวหนัง แต่กรณีการสาดน้ำกรดก็ขึ้นอยู่กับ บริเวณและจุดที่โดนด้วย เช่น โดนตามหลังมือ อาจไม่รุนแรง แต่หากเข้าดวงตา และใบหน้า และมีการสูด กลืนสาร ก็จะเข้าไปทำลายหลอดลม ทางเดินหายใจได้ ทำให้เสียชีวิต จะซึ่งส่วนสาเหตุการตาย ก็ต้องรอจากทางสถาบันนิติเวชฯ
สำหรับการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จำเป็นต้องเป็นแพทย์หรือไม่ เลขาธิการ สพฉ.กล่าวว่า ไม่จำเป็น พยาบาลสามารถทำได้ เนื่องจากมีการเรียนและอบรมไม่ต่างจากแพทย์ แต่ตามหลักปฎิบัติควรมีแพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน ตลอดช่วงเวลาของการเปิดสถานพยาบาล
ด้าน นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการ สพฉ.กล่าวว่า การแยกระหว่างการโดนน้ำร้อนสาดกับน้ำกรด แม้ว่าทำได้ยาก เพราะมีรอยแดงทิ้งไว้ในเบื้องต้น แต่สังเกตได้จากบริเวณรอยแดง หากเป็นน้ำร้อนรุนแรง แผลจะเกิดตุ่มน้ำใส ผุพอง ถ้าเป็นน้ำกรด เนื้อหรือผิวหนังที่โดนกรด จะเปื่อยเป็นชั้นๆ ส่วนอ้างเรื่องสิทธิรักษา เพื่อให้กลับไปยังต้นสังกัด ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะในมาตรา 28 พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินให้หน่วยปฏิบัติการสถานพยาบาลและผู้ปฏิบัติการ ดำเนินการปฏิบัติการฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ 1.ตรวจคัดแยกกระดับความฉุกเฉินและจัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติตามลำดับ ความเร่งด่วน ทางการแพทย์ ฉุกเฉิน
2.ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการปฏิบัติกรฉุกเฉินจนเต็มขีความสามารถของหน่วยปฏิบัติการหรือสถานพยาบาลนั้นก่อนการส่งต่อ เว้นแต่แพทย์ให้การรับรองว่า การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินจะเป็นโยชน์ต่อการป้องกัน การเสียชีวิต หรือรุนแรงขึ้น ของการเจ็บป่วย ของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นและ3.การปฏิบัติการฉุกเฉินต่อผู้ป่วยต้องเป็นไปตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ ทางกาแพทย์ ฉุกเฉิน โดยมิให้นำสิทธิประกัน การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลหรือ ความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใดๆ มาเป็นเหตุปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินให้ไม่ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย