ศูนย์ราชการฯ 30 ต.ค.- เปิดเวทีรับฟังความเห็น แก้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต ชูมาตรการเข้ม หัวหน้าหน่วยงานรัฐต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา
คณะอนุกรรมการเพื่อช่วยดำเนินการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 5) พ.ศ. …. โดยมีพลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และประธานอนุกรรมการเพื่อช่วยดำเนินการตามมาตรา 18 (3) แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560เป็นผู้เปิดการประชุมฯ และมีพันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
สำหรับในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 เพื่อกำหนดให้มีมาตรการและกลไกเพื่อการส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ โดยร่างกฎหมายดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในฝ่ายบริหารและกำหนดหลักเกณฑ์ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
2. มีการกำหนดมาตรการและกลไกในการควบคุม กำกับและติดตาม การบริหารจัดการในภาครัฐเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาครัฐ ให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3.กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงของกระบวนการบริหารงานที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบและให้มีการตรวจสอบและประเมินผลเพื่อปรับปรุง มาตรการป้องกันความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง
และ 4.กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม กวดขันวินัย และกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างมีประสิทธิผลและต่อเนื่อง และที่สำคัญหากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับโทษทางวินัย และร่วมรับผิดในความเสียหายทางแพ่งที่เกิดขึ้น กับทางราชการจากการกระทำของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและอาจต้องถูกดำเนินคดีอาญาหรือวินัย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นต้น
ทั้งนี้ ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ได้มีการนำหลักการที่จำเป็นและสำคัญในมาตรการป้องกันและแก้ไขการทุจริตและประพฤติมิชอบตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่69/2557 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขการทุจริตและประพฤติมิชอบ ลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557 มาบัญญัติไว้ และได้มีการเพิ่มมาตรการเสริมให้เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะต้องรับผิดทั้งทางวินัยและอาญา และความเสียหายทางแพ่งด้วย หากมีการทุจริตเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีมาตรการป้องกันปัญหาการทุจริต อันจะส่งผลให้ต่อไปนี้ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐจะนิ่งเฉยเหมือนที่เคยปฏิบัติในอดีตมิได้ เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เป็นความผิดหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐจะต้องรับทราบ เข้าใจในหลักการและความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้.-สำนักข่าวไทย