จันทบุรี 12 ต.ค.-เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสานต่อแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 วันนี้สำนักข่าวไทยจะพาไปดูโครงการบรรเทาอุทกภัยเมือง โครงการสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำริให้ขุดคลองภักดีรำไพใน จ.จันทบุรี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และเป็นแหล่งกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง
คลองขุดความยาวกว่า 11 กิโลเมตรสายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 46 เพื่อแก้ปัญหา หลังตัวเมืองจันทบุรีพบน้ำท่วมหนักทุกปี ภูมิประเทศทิศเหนือมีเทือกเขาสูง ทิศใต้ติดทะเล มีแม่น้ำจันทบุรีเป็นแม่น้ำสายหลักผ่านกลางเมืองลงสู่ทะเล และมีความคดเคี้ยว เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำระบายไม่ทัน จึงเอ่อเข้าท่วมชุมชน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสเมื่อปี 46 ใจความตอนหนึ่งว่า ที่จันทบุรีมีการสร้างถนนกั้นน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกั้นน้ำ และยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริว่า เมื่อมีน้ำมาก ก็ต้องมีการระบายน้ำและกักเก็บน้ำให้สอดคล้องกัน พระองค์เคยเสด็จพระราชดำเนินมายังจันทบุรีถึง 6 ครั้ง ต่อมาในปี 42 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่จันทบุรี จึงพระราชทานแนวพระราชดำริ จนมีการขุดคลองภักดีรำไพ
คลองนี้มีความลึกเฉลี่ย 4 เมตร ประตูระบายน้ำหลัก 3 แห่ง ควบคุมปริมาณน้ำระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้น้ำไหลผ่านตัวเมืองได้เร็วขึ้นในระยะทางที่สั้นลง 5 กิโลเมตร จากแม่น้ำจันทบุรี ที่คดเคี้ยว 16 เหลือ 11 กิโลเมตร และน้ำออกสู่ทะเลที่ อ.แหลมสิงห์
ผอ.โครงการชลประทานจันทบุรี บอกว่า ในระหว่างการก่อสร้างปี 52-60 มีน้ำท่วมหลายครั้ง โครงการจึงล่าช้า แต่ในปี 54 ซึ่งเกิดมหาอุทกภัยทั้งประเทศ แต่ที่จันทบุรีใช้การระบายน้ำเข้าคลองนี้ แม้ตอนนั้นยังสร้างไม่เสร็จ แต่กลับพบว่าช่วยลดปริมาณน้ำได้มาก
นี่เป็นร่องรอยจากน้ำที่ท่วมสูงเกือบ 2 เมตร เมื่อปี 42 ที่ชุมชนริมน้ำจันทบูร ยังมีภาพบันทึกเหตุการณ์จัดแสดงในศูนย์เรียนรู้ชุมชน ประธานชมรมพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูรเล่าว่า ในอดีตทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ชาวบ้านจะรีบขนของหนีน้ำ ใช้ชีวิตอย่างลำบาก แต่หลังจากคลองภักดีรำไพแล้วเสร็จ ก็ไม่เคยมีน้ำท่วมอีกเลย
เดือนมีนาคมปี 59 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อคลองสายนี้ว่า “คลองภักดีรำไพ” หมายถึง คลองที่แสดงความจงรักภักดีในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 7 นอกจากคลองนี้ช่วยบรรเทาอุทกภัยแล้ว ยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง แก้ปัญหาน้ำเค็มรุกน้ำจืด และพื้นที่ริมสองฝั่งคลองยังถูกใช้เป็นสถานที่เพื่อการสันทนาการ โดยถือเป็นโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองโครงการสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 9.-สำนักข่าวไทย