กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำข้อเสนอทางแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก ระยะยาวต้องมีทางด่วนน้ำ ยืนยัน 2 เดือนที่ผ่านมาที่พยายามลอกท่อทะลวงเส้นเลือดฝอยก็ช่วยให้น้ำหลายที่ระบายดีขึ้น น้อมรับทุกคำติ พร้อมแก้ไขในบางพื้นที่จุดอ่อนจุดเสี่ยง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงเมื่อวานนี้ (14 ก.ย.) ได้ลงพื้นที่ร่วมกับทั้ง มท.1 ที่ลาดกระบัง และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีนบุรี ว่า มีหลายภาคส่วนที่มาร่วมกันแก้ปัญหาน้ำใน กทม.ครั้งนี้ ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นมาจากปริมาณฝนที่ตกหนักมากจริงๆ แต่ก็ยืนยันว่า ปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่น้ำท่วมทั้งกรุงเทพฯ พื้นที่ส่วนใหญ่ แต่เป็นท่วมจากฝนสะสมหนักระบายไม่ทัน โดยข้อมูลปริมาณฝนที่สำนักการระบายน้ำรายงานเข้ามาก็พบว่า ต้นปีจนถึงวันนี้มีปริมาณฝนสะสม 1,600 มิลลิเมตร ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยปริมาณฝนของตลอดทั้งปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนว่าฝนตกหนักมาก โดยเฉพาะตกหนักในโซนกรุงเทพฯ เหนือ และกรุงเทพฯ ตะวันออก ที่คลองประเวศฯ จากการประสานงานจากทางกรมชลประทานก็ทำให้ขณะนี้การระบายน้ำไปที่ฉะเชิงเทราได้มากขึ้น และการระบายไปที่พระโขนง แม้ระยะทางไกลและคลองคดเคี้ยว ก็จะทยอยระบายไปได้เรื่อยๆ จากการเปิดประตูน้ำ ก็ช่วยให้สถานการณ์ลาดกระบังทยอยดีขึ้น
จากการลอกท่อทะลวงเส้นเลือดฝอยที่พยายามทำตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ก็พบว่าทำให้ถนนหลายสายที่ฝนตก น้ำระบายได้เร็วขึ้นจากเดิม เช่น โซนลาดพร้าวบางส่วน ประชาชนก็บอกว่าน้ำระบายได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังมีที่เป็นจุดอ่อนตรงไหนเราก็ยอมรับและจะรีบปรับปรุง โดยเฉพาะโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก เมื่อวานจึงได้เสนอแนวคิดกับ พล.อ.ประวิตร เรื่องทางด่วนน้ำ ยกตัวอย่างที่เขตลาดกระบัง การแก้ปัญหาน้ำระยะสั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาอยู่ที่กายภาพ ต้องมีแผนที่บูรณาการหลายจังหวัด ต้องหาทางให้น้ำที่มาทางด้านกรุงเทพฯ ตะวันออก ให้ระบายลงไปด้านล่างที่คลองร้อยคิวให้ได้ โดยได้เสนอกับกรมชลประทานไปว่า อาจจะทำเป็นอุโมงค์น้ำจากคลองลำปลาทิว มาออกที่คลองร้อยคิว ระยะทางไม่น่าเกิน 20 กิโลเมตร เพื่อตัดน้ำจากโซนลาดกระบัง โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก เพื่อลงไประบายอ่าวไทยได้เร็วขึ้น เนื่องจากปัจจุบันโซนลาดกระบัง พื้นที่กายภาพเปลี่ยนไป มีการสร้างถนนตัดใหม่สายต่างๆ มีสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกระทบต่อแนวการระบายน้ำเดิม ทำให้ต้องมีช่องทางระบายน้ำใหม่ และต้องปรับปรุง ทำให้การระบายจากคลองไหลลงไปได้สะดวก ตนเชื่อว่าเมื่อวานนี้เป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอแนวทางแก้ไข ซึ่งต้องบูรณาการหลายจังหวัด โดยได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โซนตะวันออกในภาพรวม กับท่านที่เกี่ยวข้อง และหากแก้ได้จะช่วยให้ปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก คลี่คลายบรรเทาไปได้อีกเยอะ. -สำนักข่าวไทย