กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 10 ตค..- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนภัย อันตรายจากแมลงมีพิษบริเวณที่พักอาศัย ชี้พิษอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงและป้องกันตัวเองจากการถูกแมลง กัดต่อย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า อันตรายที่เกิดจากแมลงมีพิษ เป็นภัยด้านสุขภาพอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะแมลงมีพิษหลากหลายชนิด เช่น มด ตัวต่อ และผึ้ง ฯ มักมาหาอาหารหรือสร้างรังอยู่ใกล้กับพี่พักอาศัยของคน โดยอาการหลังจากได้รับพิษ จะมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นร้ายแรงคือเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทาน อาการแพ้ของแต่ละคน ชนิดของแมลง สภาพร่างกาย อายุ บริเวณที่ได้รับพิษ รวมทั้งปริมาณพิษที่ได้รับ
อาการเบื้องต้นคือจะรู้สึกเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโดนผึ้งต่อย ต้องรีบสำรวจบาดแผล หากพบเหล็กไนให้รีบเอาออก โดยใช้ลูกกุญแจที่มีรูกดที่แผลแล้วจะเห็นเหล็กไนยื่นออกมา หรืออาจใช้แหนบคีบดึงออกมา และห้ามคลึงที่แผลเพราะจะทำให้พิษกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น จากนั้นให้ประคบ ด้วยน้ำแข็ง บริเวณที่ถูกต่อยจะมีอาการบวมแดงและต่อมาจะรู้สึกคัน ซึ่งต้องรักษาความสะอาดบริเวณบาดแผล และอย่าไปแกะเกาเพราะจะทำให้เกิดเป็นตุ่มหนองได้เนื่องจากการติดเชื้อ ส่วนในรายที่มีอาการแพ้พิษ อาจมีผื่นขึ้นตามลำตัวอย่างผิดปกติ ตามมาด้วยอาการหายใจลำบาก อึดอัด แน่นหน้าอก รู้สึกเหมือนจะเป็นลม เนื่องจากหลอดลมตีบ รวมทั้งความดันจะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้ารู้สึกเช่นนี้ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพประชาชนจากการได้รับพิษจากแมลง จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงแมลงพิษเหล่านี้ โดยห้ามไม่ให้ไปรบกวนรังเด็ดขาด หากพบเห็นรังอยู่ใกล้ที่พักอาศัย และต้องการทำลาย ควรให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการกำจัดแมลงที่มีความชำนาญมาดำเนินการให้ นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้จัดทำหนังสือแมลง สัตว์ และพืชที่มีพิษและเป็นอันตราย ไว้เพื่อแจกจ่าย ให้ความรู้กับหน่วยงานหรือประชาชนผู้สนใจฟรี โดยสามารถติดต่อขอรับได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0-2951-0000 ต่อ 99081, 99238” นายแพทย์โอภาส กล่าว.-สำนักข่าวไทย