พญาไท9 ต.ค.-คนข้ามเพศ ร้องวลพ.หลังได้รับผลกระทบจากหนังสือเรียนสุขศึกษามีเนื้อหาเหยียดเพศ แนะสพฐ.เร่งแก้ไขหลักสูตร ปรับเนื้อหาให้ทันสมัย
น.ส.พริษฐ์ ชมชื่น คนข้ามเพศ และนายศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ นักเรียนชั้น ม.6 ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเนื้อหาของวิชาสุขศึกษา พร้อมด้วยมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เข้ายื่นคำร้องต่อศาสตราจารย์มาลี พฤกศ์พงศวลี ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.)ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เพื่อขอให้เร่งรัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)แก้ไขหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นแนวทางในการเรียบเรียงเนื้อหาของวิชาสุขศึกษา ชั้น ม.1-6 หลังพบว่าเนื้อหาของวิชาสุขศึกษา มีการถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลที่มีเพศสภาพแตกต่างจากเพศกำเนิด ผิดเพี้ยนไปและมีการระบุเนื้อหาในแบบเรียน ส่อในทางเหยียดเพศ ก่อให้เกิดอคติและสร้างความขัดแย้งทางเพศ ผ่านเนื้อหาที่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง, ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นใช้คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ”, “เป็นบุคคลไม่มีอนาคต อันตราย”, “วิปริต” อีกทั้งยังจำกัดความคิดและบทบาทของเพศหญิงและเพศชายที่ไม่เท่าเทียมกัน
น.ส.พริษฐ์ กล่าวว่า ตนได้รับผลกระทบต่อแบบเรียนนี้อย่างมากเพราะเนื้อหาระบุว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศคือผู้ป่วย เป็นคนไม่ปกติ ทั้งที่หนังสือเล่มนี้เป็นรากฐานความรู้ สอนให้เด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตที่ดี แต่กลับสร้างมาคติที่ไม่ถูกต้องไปให้พวกเขา ทำให้สังคมไม่เปิดรับคนข้ามเพศ ทั้งเรื่องงาน และการขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆในอนาคตเพราะองค์ความรู้พื้นฐานของสังคมไทยไม่ถูกต้องทั้งที่องค์การอนามัยโลกก็ระบุชัดเจนแล้วว่าคนข้ามเพศไม่ใช่คนป่วยหรือคนวิกลจริต แต่ในแบบ เรียนกลับไม่มีความทันสมัย ยังยึดติดอยู่กับความคิดเดิมๆ ซึ่งคำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” เป็นคำที่ลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ หากนักเรียนระดับพื้นฐานต้องศึกษา และเด็กเหล่านี้โตไปหรือในอนาคตพบเห็นบุคคลที่มีเพศสภาพไม่เป็นไปตามกำเนิด ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นคนไม่ปกติ อาจจะเป็นโรคจิต นี่เป็นผลกระทบหนักที่คนข้ามเพศได้รับ
สอดคล้องกับนายศุภณัฐ เปิดเผยว่า แบบเรียนสุขศึกษาที่เรียนอยู่นี้พยายามสร้างการรับรู้เรามีแค่เพศชายและเพศหญิง โดยผู้ชายต้องแข็งแรง เตะบอล ซึ่งส่วนตัวไม่ยอมเล่นอะไรที่หนักแบบนั้นก็ถูกบอกว่าแปลกแยก เป็นคนเบี่ยงเบนทางเพศ เช่น สุขศึกษาม.5 ที่ตนเรียนปีที่แล้วระบุถึงปัญหาการเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้ทั้งในเพศหญิงและชาย โดยบุคคลอาจจะแสดงถึงพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เช่น ผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นเกย์ เลสเบี้ยน เป็นต้น ทำให้สังคมเกิดความรู้สึกไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นอคติที่อยู่บนหนังสือเรียนอย่างชัดเจน ทั้งที่หนังสือเรียนควรเป็นข้อเท็จจริงแต่กลับสร้างความบิดเบือน
ขณะที่น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า เรื่องแบบเรียนดังกล่าวทางมูลนิธิฯ เคยทำหนังสือถึงสำนักวิชา การและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2561ให้ปรับปรุงแก้ไข แต่ยังไม่มีความคืบหน้าได้รับการตอบกลับเพียงว่าเพราะหลักสูตรแกน กลางยังไม่ได้แก้ไข จึงไม่สามารถแก้ไขแบบเรียนสุขศึกษาได้ ซึ่งฟังแล้ว ไม่สมเหตุสมผล การส่งต่อความรุนแรงความรู้ความเข้าใจที่ผิดๆ ไปยังลูกหลานทั้งประเทศกับการแก้ไขหลักสูตรเรายอมให้เอกสารมีความสำคัญมากกว่าความปลอดภัยและความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องได้อย่างไร
ด้าน ศาสตราจารย์มาลี กล่าวว่า วลพ.จะมีการประชุมวันที่ 18 ต.ค.นี้ ซึ่งจะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าพิจารณาด้วย เพราะถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้สังคมเกิดความเข้าใจ จากนั้นก็ส่งสำเนาคำร้องถึงผู้ถูกร้องเพื่อพิจารณาไต่สวนและรวบรวมประเมินผลการพิจารณาภายในกรอบระยะ เวลา 150 วัน หากยังมีข้อขัดข้องก็สามารถยืดเวลาได้ 2 ครั้งๆ ละ 30 วัน .-สำนักข่าวไทย