สพฐ.9 ต.ค.-สพฐ.เผยแบบเรียนสุขศึกษาเหยียดเพศ เป็นแบบเรียนเก่า ที่โรงเรียนยังนำมาใช้เรียน-สอน คาด1-2ปีนี้ หลักสูตรแกนกลางใหม่เสร็จแน่
น.ส.นิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีคนข้ามเพศและมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ(วลพ.)เพื่อเร่งรัดให้ สพฐ.แก้ไขหลักสูตรแกนกลางแก้ปัญหาแบบเรียนสุขศึกษา ให้มีความทันสมัย ไม่สร้างความรู้และคติความเชื่อที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ในทางที่ผิดเพี้ยน จนลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ว่า สพฐ.มีความยินดี หาก วลพ.จะติดต่อเข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้เพราะในส่วนของแบบเรียนสุขศึกษาที่มีปัญหาตามที่แชร์กันในโลกออนไลน์และที่เป็นข่าวอยู่นั้น เป็นแบบเรียนเก่าที่ผู้เขียนและสำนักพิมพ์เขียนตามตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551ซึ่งตัวหลักสูตรไม่ได้ระบุระเอียดถึงคำนิยามเรื่องเพศ หรือการเบี่ยงเบนทางเพศ แต่เป็นกรอบกว้างๆ ที่ให้ผู้เขียนได้อิงเป็นตัวชี้วัดในการเขียนหนังสือ ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อ10 ปีก่อน เรื่องความหลากหลายทางเพศยังไม่มีการพูดถึงเหมือนทุกวันนี้ การใช้คำว่าเบี่ยงเบนทางเพศ หรือการนิยามในหนังสือที่พบว่าเป็นปัญหาในวันนี้ ณ ตอนนั้นก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา เป็นการเหยียดเพศแต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปสากลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และประเทศไทย มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้น ทาง สพฐ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนให้สำนักพิมพ์ทุกสำนัก ทบทวนเนื้อหา แก้ไขคำ ข้อความ และวิธีการนำเสนอ หนังสือกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา รวมถึงกลุ่มสาระที่เกี่ยวข้อง ให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายความเท่าเทียม และพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.2559 แต่เนื่องจากตามหลักการ กว่าที่สำนักพิมพ์จะนำสื่อมาให้ สพฐ.ตรวจสอบทั้งหมด ต้องอยู่ในรอบทุกๆ 5 ปีด้วย ซึ่งประกาศที่ออกไปหลายสำนัก ยังไม่ครบ 5 ปีจึงอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข โดยแบบเรียนที่พบว่าเป็นปัญหานั้น เป็นแบบเรียนเก่าที่ผลิตก่อนที่จะมีหนังสือเตือน ซึ่งถามว่าเก็บแบบเรียนเหล่านี้เข้ากุเลยได้หรือไม่ เมื่อรู้ว่ามีปัญหา ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่รู้ว่าโรงเรียนไหนนำมาใช้ในการเรียนการสอนบ้าง แต่ต้องอธิบายว่าสื่อการเรียนการสอนไม่ใช่มีแค่หนังสืออย่างเดียว มีอย่างอื่นอีกมากมายที่ให้เด็กได้เรียนรู้
สำหรับประเด็นที่ว่าหลักสูตรแกนกลางที่ใช้มานานนับ10 ปีจะมีการปรับ ปรุงให้ทันสมัยขึ้นหรือไม่นั้น น.ส.นิจสุดา เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข คาดว่าหากไม่มีอะไรติดขัดน่าจะเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้.-สำนักข่าวไทย