กรมแพทย์ทหารเรือ 4 ต.ต.-กองทัพเรือซ้อมทีมแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมเดินทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ที่อินโดนีเซีย ภายใน 2 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ต.ค.) ที่โรงเรียนนาวิกเวชกิจ กรมแพทย์ทหารเรือ มีการซักซ้อมการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย (HADR) แก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิถล่ม ประเทศอินโดนีเซีย ของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับสูง ในภาวะภัยพิบัติ หรือ ชุดเมิร์ท (MERT) จำนวน 2 ชุด รวม 20 นาย ประกอบด้วย แพทย์, พยาบาล, เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่เวชกรรมป้องกัน ซึ่งการซักซ้อมในวันนี้ประกอบด้วยการแยกผู้ป่วยตามอาการบาดเจ็บ แบ่งเป็น สีเหลือง เขียว และแดง จากนั้นทีมฉุกเฉินจะส่งไปยังโรงพยาบาลสนามเพื่อให้ทีมแพทย์ประเมินอาการ และทำการรักษาพยาบาลขั้นต้น โดยผู้ที่มีอาการสาหัสจะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมต่อไป
น.อ.เสฏฐศิริ แสงสุวรรณ หัวหน้ากองแผนกรมแพทย์ทหารเรือ ในฐานะผู้ควบคุมการปฏิบัติงานทีมเมิร์ท กล่าวว่า พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการให้กรมแพทย์ทหารเรือ เตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยเมื่อได้รับคำสั่งจากรัฐบาล หรือหน่วยเหนือ จะต้องมีความพร้อมภายใน 2 ชั่วโมง สามารถออกปฏิบัติงานได้ทันที สำหรับการซักซ้อมวันนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การสาธิตขีดความสามารถในการให้ความช่วยเหลือ 2.การวางแผนและนำเสนอความพร้อมของกรมแพทย์ทหารเรือ และ 3.การระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังพลและวัสดุอุปกรณ์สายแพทย์ สำหรับชุด MERT สามารถปฏิบัติงานต่อเนื่อง 72 ชั่วโมง ทั้งด้านการอาหาร การกินยาและเวชภัณฑ์ ระบบไฟฟ้า ขีดความสามารถเทียบเท่ากับโรงพยาบาลระดับ 1 หรือ ห้องฉุกเฉิน ER แต่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เพราะการผ่าตัดต้องเป็นโรงพยาบาลสนามระดับ 2
น.อ.เสฏฐศิริ กล่าวด้วยว่า ผบ.ทร.สั่งการให้กรมแพทย์ทหารเรือ จัดชุดเพื่อช่วยเหลือทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติจำนวน 2 ทีม โดย 1 ทีม มาจากโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ส่วนอีก 1 ทีมจากโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดยให้ทดสอบความพร้อม การเตรียมกำลังพล และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ภายใน 2 ชั่วโมงทันทีที่รับคำสั่งจากรัฐบาลและหน่วยเหนือ
น.อ.เสฏฐศิริ กล่าวว่า สำหรับกำลังพลที่เตรียมพร้อมไปอินโดนีเซีย หากได้รับการประสาน ได้รับการฝึกอบรมในหลักสูตรการช่วยเหลือทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ ซึ่งเป็นหลักสูตรของกรมแพทย์ทหารเรือ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางส่วนยังได้รับการฝึกการช่วยเหลือในสถานการณ์ภัยพิบัติกับต่างประเทศ รวมถึงการฝึกประจำปีของกองทัพเรือที่ได้มีการทบทวนความเชี่ยวชาญอยู่เป็นประจำ
“ส่วนปฏิบัติการจริง ชุดนี้มีผู้มีประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ปี 2547 น้ำท่วมใหญ่ปี 2544 และน้ำท่วมที่นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2560 และล่าสุดได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย จึงถือว่าเจ้าหน้าที่ชุดนี้มีประสบการณ์พอสมควรในการปฏิบัติงานที่อินโดนีเซีย” น.อ.เสฏฐศิริ กล่าว
น.อ.เสฏฐศิริ กล่าวอีกว่า จากการติดตามสถานการณ์ที่อินโดนีเซีย พบว่ามีคนเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก และล่าสุดยังมีปัญหาภูเขาไฟปะทุ ซึ่งยกระดับความรุนแรง ทำให้สถานการณ์ภัยพิบัติยังไม่สงบ อีกทั้งพื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นป่า อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคติดต่อทางเดินหายใจ โรคติดต่อทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดจากพาหะนำโรค เช่น ยุง อาทิ โรคไข้เลือด โรคมาลาเรีย สำหรับเจ้าหน้าที่ชุดนี้ หากได้รับคำสั่งจะอยู่ในพื้นที่ 5-7 วัน ส่วนชุดที่จะสับเปลี่ยนต่อไป คือ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์.-สำนักข่าวไทย