กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – GIT ใช้เวทีประชุมวิชาการนานาชาติ “GIT 2018” ประกาศไทยพร้อมก้าวเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก
นายราเชนทร์ พจนสุนทร ประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติเป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “อุตสาหกรรมพลอยสีไทยยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก” พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลกกว่า 150 ราย เพื่อร่วมประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ (The 6th International Gem & Jewelry Conference 2018 : GIT 2018) และยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงวิเคราะห์ทิศทางอุตสาหกรรมอัญมณีโลกปีหน้า โดยไทยจะใช้เวทีดังกล่าวเป็นการตอกย้ำอุตสาหกรรมอัญมณีไทยเป็นที่ต้องการของชาวโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะพลอยสี
ทั้งนี้ หากดูมูลค่าของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ซึ่งตัวเลขมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำพบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,320.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.92 และคาดว่าปีนี้อัตราการเติบโตอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังคงเป็นบวกได้ถึงร้อยละ 1-3 หรือคิดเป็นมูลค่าเกินกว่า 7,000-7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องและเชื่อมั่นสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย จีน กลุ่มประเทศอาเซียน รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกปี 2564 อย่างเต็มรูปแบบ สถาบันฯ จึงจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ GIT 2018 ภายใต้แนวคิด “Global Gem Sourcing & Trading” ขึ้น ในงานบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 62 เพื่อตอกย้ำต่อผู้นำทางวิชาการด้านอัญมณีและเครื่องประดับของสถาบัน และแสดงถึงความพร้อมของประเทศไทยผ่านเวทีการประชุมนานาชาติถือเป็นโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทุกด้าน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นแหล่งพลอยที่มีชื่อเสียงระดับโลกมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นพลอยเนื้อแข็งอย่างทับทิม ไพลิน หรือพลอยเนื้ออ่อนประเภทสปิเนล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งทับทิมเป็นรู้จักกันในชื่อทับทิมสยาม อีกทั้งยังเป็นตลาดการค้าพลอยที่สำคัญของโลกมาตลอดหลายสิบปี ทั้งตลาดค้าพลอยที่จังหวัดจันทบุรี ตลาดค้าพลอยที่แม่สอด จังหวัดตาก และตลาดในกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นศูนย์รวมพลอยจากทุกแหล่งทั่วโลก เนื่องจากความมีชื่อเสียงของช่างฝีมือการเจียระไนพลอยและการเผาพลอย นอกจากนี้ วัตถุดิบต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามายังทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งผลิตและแหล่งค้าเครื่องประดับที่สำคัญระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทองหรือเครื่องประดับเงิน หรือเครื่องประดับแฟชั่นอื่น ๆ.-สำนักข่าวไทย