กรุงเทพฯ 22 ส.ค.-ทปอ.เปิดโรดแมป TCAS 62 เผยกำหนดการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปี 2562 อย่างเป็นทางการแล้ว ปีนี้ปรับกรอบเวลาให้สั้นลงเหลือ 6 เดือนครึ่ง มั่นใจข้อสรุปแนวทาง TCAS 62 จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาสให้นักเรียนทุกกลุ่มเท่าเทียม ไม่ซ้ำรอยปัญหา TCAS 61
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ทปอ.ได้มีมติรับรองระบบการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปี 2562 (TCAS 62) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และต้องการให้นักเรียนทราบกรอบระยะเวลา กำหนดการต่างๆ ล่วงหน้า ในการเตรียมความพร้อมสู่การลงสนามแข่งขันจริง ซึ่ง TCAS 62 ยังคงเปิดให้มีการคัดเลือกทั้งหมด 5 รอบ และมีการปรับระยะเวลาการคัดเลือกให้กระชับขึ้นจากเดิม 10 เดือน เหลือ 6 เดือนครึ่ง คือตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ไปจนถึง กลางเดือนมิถุนายน 2562 เพื่อให้นักเรียนมีเวลาในการเตรียมความพร้อมสู่ขั้นตอนต่อไปมากขึ้น และรองรับกรอบเวลาที่แต่ละสถาบันเปิดเรียนที่แตกต่างกัน ชี้ให้เห็นว่า ทปอ.ใส่ใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับ TCAS 61 และนำบทเรียนมาปรับแก้ไขให้ได้มากที่สุด
สำหรับกำหนดการการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปี 2562 (TCAS 62) ทปอ.กำหนดกรอบระยะเวลาดังรายละเอียด ได้แก่
นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อไปว่า ทปอ.มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ TCAS 62 มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ทปอ.ไม่เคยมองข้ามปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับ TCAS 61 และเข้าใจในความคาดหวังของนักเรียนที่เตรียมสมัครเข้าคัดเลือก TCAS 62 รวมถึงข้อห่วงใยจากผู้ปกครองที่มีต่อระบบการคัดเลือก ซึ่ง ทปอ.ได้นำปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับ TCAS 61 นำมาวิเคราะห์ หาสาเหตุและทางออกที่เหมาะสม ด้วยการจัดทำประชาพิจารณ์ ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 เพื่อถอดบทเรียน และนำผลจากการทำประชาพิจารณ์มาหาข้อสรุปที่ชัดเจน โดย TCAS 62 ยังคงรายละเอียดการคัดเลือกรอบที่ 1 (Portfolio) และรอบที่ 2 (รับตรงโควตา) ไว้ตามเดิม เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ามีประโยชน์ต่อนักเรียนที่มีผลงานที่น่าสนใจ ความสามารถพิเศษ ตามความถนัดของตนเอง
การปรับเปลี่ยนและรายละเอียดที่สำคัญของ TCAS 62 นอกจากกรอบระยะเวลาที่กระชับขึ้น คือ การคัดเลือกรอบที่ 3 (รับตรงร่วมกัน) ซึ่งได้ปรับรูปแบบการยื่นคะแนนสามัญ 9 วิชา GAT PAT และ ONET ให้เป็นการดึงคะแนนจากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลโดยตรง โดยในรอบนี้ให้ผู้สมัครจะต้องเรียงลำดับ คณะ และสถาบัน ทั้งภายในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) และนอกกลุ่ม กสพท. ที่ต้องการได้ 6 อันดับ และ ทปอ. จะประกาศผลการคัดเลือกเพียง 1 อันดับเท่านั้น
สำหรับรูปแบบของ TCAS 62 นี้ จะช่วยแก้ปัญหานักเรียนที่มีคะแนนสูงกันที่เรียนคนอื่นๆ และให้นักเรียนที่มีคะแนนลดลงมา ได้มีโอกาสเลือก 1 ใน 6 คณะและสถาบันที่ต้องการมากขึ้น โดย ทปอ.มั่นใจว่าจะไม่ซ้ำรอย TCAS 61 อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ทปอ. ยังมีมติร่วมกันว่าต้องหาแนวทางช่วยเหลือผู้สมัครในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสมัครในรอบที่ 3 ทั้งการเพิ่มสาขาวิชาที่สมัครและลดค่าสมัคร โดยสาขาวิชาจะลดค่าสมัครลงเหลือสาขาวิชาละ 100 บาท และค่าบริหารจัดการสิทธิ์ส่วนกลาง 50 บาท ผู้สมัครที่เลือกทั้ง 6 อันดับ ก็จะมีค่าใช้จ่ายรวมเพียง 650 บาทเท่านั้น เลือกจำนวนสาขามากขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง ทปอ. หวังว่าความเปลี่ยนแปลงของ TCAS 62 จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย กระจายโอกาสให้กับนักเรียนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายของ ทปอ. ที่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
ส่วนการคัดเลือกในรอบที่ 4 (Admission) และ รอบที่ 5 (รับตรงอิสระ) ทปอ.มีข้อสรุปว่า ยังมีความจำเป็นที่จะคงไว้ตามเดิม เพื่อให้ผู้สมัครมีสิทธิในการเข้าศึกษาต่อในคณะและสถาบันที่ต้องการด้วยองค์ประกอบและเกณฑ์ที่แตกต่างกัน จะช่วยลดความตึงเครียด จากอัตราการแข่งขันของผู้เข้าสมัครที่กระจุกอยู่เพียงบางคณะ บางสถาบันในรอบแรกๆ ลงได้ สำหรับรายละเอียดของการสละสิทธิ์นั้น TCAS 62 ได้มีการปรับรายละเอียดคือ กำหนดระยะเวลาการสละสิทธิ์ในแต่ละรอบอย่างชัดเจน และการสละสิทธิ์หลังที่ผู้สมัครยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกรอบใหม่ จะทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้น ผู้สมัครจึงจำเป็นต้องวางแผนในการเลือกคณะ และสถาบันในการคัดเลือกแต่ละรอบอย่างรอบคอบ
ส่วนการปรับเปลี่ยนที่อยู่นอกประเด็นประชาพิจารณ์เพิ่มเติม ได้แก่ การกำหนดจำนวนหน้าของ Portfolio ไม่ให้เกิน 10 หน้ากระดาษ รายละเอียดอื่นๆที่มีให้นำมาในวันสัมภาษณ์ได้ และทปอ. จะประสานสถาบันอุดม ศึกษาให้จัดส่งองค์ประกอบ เกณฑ์ และเป้าหมายการรับ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้สมัครได้ทราบประมาณเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ทปอ. ยังคงเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อการออกแบบระบบการบริหารจัดการที่ดีผ่านออนไลน์ tcas61survey.cupt.net และเครือข่ายการศึกษาออนไลน์ Dek-D และ Admission Premium อย่างต่อเนื่อง
“เชื่อมั่นว่าการปรับแนวทาง TCAS 62 โดยถอดบทเรียนจาก TCAS 61 จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งนอกจากการปรับรูปแบบการคัดเลือกในรอบที่ 3 แล้ว ทปอ. ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้อห่วงใยที่นักเรียนรวมถึงผู้ปกครองมีต่อระบบไอที ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลและการรับรู้ของผู้เข้าสมัคร ซึ่งใน TCAS 62 ทปอ. ได้มีการพัฒนาระบบไอทีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับการใช้งานที่มีปริมาณมาก ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้ใช้งานอย่างตรงจุด ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการระบบไอทีที่ปรับปรุงใหม่แล้ว เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้งาน รวมถึงการเปิดตัวคู่มือ TCAS 62 เพื่อแจกนักเรียนทั่วประเทศ ในเร็วๆนี้” นายสุชัชวีร์ กล่าวในตอนท้าย.-สำนักข่าวไทย