ทปอ.2 ต.ค.–ทปอ.แนะแนว TCAS62 แต่ละรอบเหมาะกับใคร รู้ก่อน เตรียมตัวก่อน ช่วยให้เหนื่อยน้อยลง
นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ คณะกรรมการพัฒนาระบบ TCAS ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับ TCAS 62 คือการสมัครทั้ง 5 รอบที่เปิดรับสมัคร เป็นเพียงทางเลือกให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ในทางปฏิบัติอาจเลือกเพียงรอบเดียวที่เหมาะกับตนเอง ทุ่มเทรอบนั้นและทำอย่างสุดความสามารถ ก็มีโอกาสคว้าที่นั่งในสาขา คณะ สถาบันในดวงใจไปมากกว่าครึ่ง
เริ่มต้น TCAS รอบที่ 1หรือรอบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน รอบนี้เหมาะกับผู้มีผลงาน กิจกรรม ความสามารถพิเศษที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่ต้องการเรียน ผู้สมัครนำผลงานไปยื่นกับสาขาวิชา สถาบันที่สนใจ เช่น เก่งดนตรีก็เอาผลงาน ชื่อรางวัลที่เคยได้ มาใส่ในแฟ้มสะสมผลงานโดยไม่ใช้คะแนน โดยจะพิจารณาจากหลักฐาน เช่น เกียรติบัตร รูปภาพประกวด หรือขณะเรียนทำโครงงานอะไรที่คิดว่าภูมิใจและเกี่ยวข้องกับสาขาที่สมัครก็สามารถใส่ประกอบมาได้ โดยมีพื้นที่ให้ 10 หน้ากระดาษ A4 ซึ่งสถาบันที่ส่งแฟ้มไปจะคัดเลือกจากแฟ้มใส่ผลงานที่มีความโดดเด่น จากความสนใจที่สอดคล้องกับวิชาที่จะเรียน (Pre-Screening) เมื่อได้บุคคลที่น่าสนใจแล้วจะเรียกไปสอบสัมภาษณ์ ซึ่งจะนำแฟ้มสะสมผลงานมาพิจารณาว่าใช่ตัวตนผู้สมัครจริงหรือไม่ เรียกได้ว่า TCAS รอบที่1 วัดกันที่อินเนอร์ คือดูตัวตน โปรไฟล์และความสนใจเป็นสำคัญ โดยไม่ต้องใช้คะแนนสอบใดๆยื่นเลย
TCAS รอบ2มาจากโครงการต่างๆ ที่เปิดรับสมัคร นักเรียนที่สนใจสามารถสอบถามได้จากโรงเรียนตนเองว่าทำความร่วมมือไว้กับโครงการใดบ้างเพื่อเช็คสิทธิ์ในการสมัครสอบ สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจรอบนี้คือรายละเอียด หลักเกณฑ์ เงื่อนไขของโครงการต่างๆเพราะบางโครงการจะมาพร้อมทุน การศึกษา ซึ่งอาจระบุเงื่อนไขว่าต้องรักษามาตรฐานเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำจึงจะได้ทุนเรียนจนจบ และบางโครงการอาจพ่วงสัญญาผูกพันไปจนถึงการทำงานในองค์กรที่ให้การสนับสนุนทุนดังกล่าวในระยะเวลาที่กำหนดอีกด้วย โดยสรุป TCAS รอบ2 เหมาะกับผู้มีผลการเรียนดี วิชาการเด่น มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่รับสมัครตามที่โครงการกำหนด อาทิ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย โครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย เป็นต้น
รอบที่ 3 รอบรับตรงร่วมกัน เตรียมคะแนนให้พร้อมก่อนยื่น รอบนี้เป็นรอบที่ต้องใช้คะแนน เพื่อยื่นสมัครและสามารถจัดอันดับได้ถึง 6 อันดับ ซึ่งปีนี้ จุดที่แตกต่างจาก TCAS 61 คือสาขาของ กสพท.จะเป็น1ในตัวเลือกของการสมัคร TCAS รอบที่3(รับตรงร่วมกัน) หมายถึงผู้สมัครสามารถเลือกสาขาใด สถาบันใดที่สนใจก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มของ กสพท. ทั้ง 6 อันดับเลยก็ได้ โดยยังคงเกณฑ์การคัดเลือกเดิมไว้บางส่วน คือใช้คะแนนจากคะแนน 9 วิชาสามัญ O-NET GAT/PAT และอาจใช้ GPAX ร่วมด้วย ในรอบนี้มีคำแนะนำว่า ให้เรียงสาขา คณะ สถาบันที่อยากเรียนมากที่สุดเอาไว้อันดับที่1 และสาขาอื่นๆ เรียงลงมาตามลำดับ และสิ่งที่ต้องจำให้ดี คือต้องวางแผนให้รอบคอบก่อนการสมัคร ควรหาตัวเองให้เจอว่าอยากเรียนอะไร ที่ไหนมากที่สุด ให้พิจารณาจากคะแนนและความถนัดของตนเป็นสำคัญเพราะปีนี้ถึงบางคนอาจมีคะแนนสูงมีโอกาสเลือกได้หลายอันดับ แต่หลักเกณฑ์ปีนี้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า จะได้สิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์เพื่อไปยืนยันสิทธิ์เพียง 1 อันดับเท่านั้น
ขณะที่ Admissions แบบเดิมแต่เพิ่มเติมคือหาตัวเองให้เจอ ในรอบนี้ ใช้เกรดเฉลี่ยสะสม(GPAX)คะแนน 9วิชาสามัญ O-NET GAT/PAT เกือบจะเหมือนกันกับรอบ 3 แต่ในรอบที่ 4(Admissions)ทปอ.จะแบ่งกลุ่มสาขา วิชาเป็นทั้งหมด 10 กลุ่มในแต่ละกลุ่มจะมีสัดส่วนการใช้คะแนนไม่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถเรียงอันดับได้สูงสุด 4 อันดับ (ได้สิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์เพื่อไปยืนยันสิทธิ์เพียง1 อันดับเท่านั้น) ที่สำคัญการสมัครในรอบที่ 4 นี้ใช้คะแนน GPAX ในทุกกลุ่มสาขาวิชาสูงถึงร้อยละ 20 จึงเป็นรอบที่เหมาะกับผู้เตรียมตัวมาดี ตั้งใจเรียนในห้องเรียนตั้งแต่เรียนชั้น ม.4 ทำเกรดเฉลี่ยสะสมได้ดี อาจทำให้เหนื่อยน้อยลงในรอบนี้
และ‘อิสระเต็มที่ แต่มีสิทธิ์เลือกแค่หนึ่งเดียว’ มาถึงรอบนี้อาจหมายถึงรอบเก็บตก อาจหมายถึงบางคนที่ติดในรอบแรก ๆ ไปแล้ว แต่อยากลองเปิดโอกาสให้ตัวเองจนถึงรอบสุดท้าย(รับตรงอิสระ)หรือสนใจเฉพาะสาขาที่เปิดรับในรอบนี้เท่านั้น และอาจหมายถึงผู้พลาดโอกาสมาตลอดทั้ง 4 รอบเลยก็ได้ ซึ่งในรอบนี้สามารถเลือกสมัครในสาขาที่เปิดรับอย่างอิสระ ใน ช่วงเวลาที่กำหนด จะสมัครกี่ที่ก็ได้ เปิดโอกาสให้ได้เลือกกันแบบเต็มที่ในรอบสุดท้ายนี้ แต่การรับสมัครทั้งหมดจะอยู่ภายใต้กรอบการยืนยันสิทธิ์ผ่านส่วนกลาง (ทปอ.)เหมือนกับทุกรอบที่ผ่านมา ดังนั้น แม้ว่าจะไปสมัครหลายที่ และติดหลายที่เช่นกัน แต่การยืนยันสิทธิ์ จะทำให้เพียงที่เดียวเท่านั้น และอยู่ในกรอบระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้เท่านั้น .-สำนักข่าวไทย